“ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล” ชวน ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สละเก้าอี้อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายคนคุ้นเคยกับลีลาการสื่อสารสไตล์ The Disruptor เมืองไทย แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และการทำงานการเมืองในบทบาทปัจจุบัน
ต้องบอกไว้ก่อนว่าในบทสนทนานี้ มีเรื่องที่น่าสนใจที่ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่เคย
คนส่วนหนึ่งจดจำเขาในบทบาทวิศวกรเมือง นักการศึกษา ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราอาจเคยเห็นเขาเสนอวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ “แก้มลิงใต้ดิน” และการปฎิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่แม้จะตะโกนแค่ไหน เสียงก็ไม่ได้ดังพอที่จะไปถึงหูของผู้รับผิดชอบ
“การทำงานที่ผ่านมามีบทบาทในวิชาชีพ ก็ได้แต่ตะโกน เสียงเบาๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ว่าจะต้องทำแก้มลิงใต้ดิน แก้ปัญหาการศึกษาต้องพัฒนาเยาวชน ต้องยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ แต่ก็คงมีหนทางเดียวสำหรับมืออาชีพที่พอจะใช้พลังของตัวเองเปลี่ยนแปลงประเทศได้คือเส้นทางทางการเมือง”
แทบจะตลอดชีวิตของ ดร.เอ้ ทำงานอย่างโชกโชน สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแวดวง จนมาจบที่เส้นทางการเมือง จากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เขาบอกว่า “ถึงจะแพ้แต่ก็ไม่เลิก”
“งาน กทม. เป็นงานเทคนิคด้านวิศวกรรม เช่น แก้ปัญหาน้ำท่วม รถติด ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาผังเมือง ตึกถล่ม ป้ายล่ม สายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งเราก็พัฒนาตนเองในด้านนี้ เป็นวิศวกรวิชาชีพ ทำเรื่องการศึกษามาทั้งชีวิต ส่วนเรื่องสาธารณสุขก็ทำโรงพยาบาล ทุ่มเพื่องานนี้จึงลาออก จาก 21 ตำแหน่ง แต่เมื่อไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรนอกจากให้กำลังใจท่านผู้ว่าฯ ส่วนอนาคตจะลงสมัครอีกไหมยังตอบไม่ได้ แต่วันนี้ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองครบ 1 ปีแล้ว”
บทบาททางการเมืองคือสิ่งที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก พร้อมให้นิยามว่า “งานการเมืองคืองานบริหาร ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” แถมยังให้เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับประชาธิปัตย์ ว่า เพราะพรรคมีโครงสร้างที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีการครอบงำ เป็นประชาธิปไตยแบบอินไซด์เอาท์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญโดยเฉพาะมุมมองทางการเมือง ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การเมืองแบ่งข้างชัดเจน จะทำอย่างไรให้ละลายการแบ่งข้าง ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ Passion ที่เขาตั้งใจเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น หากวันหนึ่งมีโอกาสได้ขึ้นเป็นผู้นำ จะผลักดัน 2 นโยบาย คือ "โครงสร้างการพัฒนาคน" และ "โครงสร้างเศรษฐกิจไทย"
“ผมมีความมุ่งมั่นต้องการเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาคน เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง เราทำเรื่องนี้มานานแล้วรู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องมีกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะมีเครื่องจักรใหม่คือ พัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง ก็ต้องผลิตคนที่มีคุณภาพ ต่อมาคือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่อยากให้ไทยพึ่งพาแต่การท่องเที่ยวเท่านั้น แม้เราจะโชคดีมีเครื่องจักรนี้โดยกำเนิดก็ตาม แต่ตัวเดียวเอาไม่อยู่ ต้องมองหาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้ไทยเป็นต้นน้ำของสินค้ามูลค่าสูง”
สิ่งที่หลายคนอาจเคยได้สัมผัสคือ "บทบาทของนักการเมืองหน้าใหม่" ที่ผ่านมาอาจสะท้อนผ่านการแสดงออกทางการเมืองหลากหลายรูปแบบต่างๆ ซึ่งใน “เกมการเมือง” คนเหล่านี้เป็นพลังที่น่าจับตา แต่คำถามคือ จะเอาอะไรไปสู้ ส.ส.หน้าเก่า ?
“นักการเมืองหน้าใหม่เยอะๆ ก็ดี ทำให้การเมืองสดชื่น ดูมีความหวัง การเมืองต้องมีแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าใหม่แต่หน้านะ ต้องมีความมืออาชีพ สำหรับเราไม่ได้หน้าใหม่สำหรับสังคม เพราะเรามีบทบาทต่างๆมากมาย”
เส้นทางชีวิตของ ดร.เอ้ เป็นทั้งวิศวกรเมืองและ Disrupter นักการเมือง ที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนเมืองมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่ตั้งใจมาตลอดอีกอย่างก็คือ หยุดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้กับกรุงเทพมหานคร
ดร.เอ้ ทิ้งท้ายว่า เพราะเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วมแถวบ้านทุกครั้งที่ฝนตก จึงเข้าใจหัวอกของคนที่ต้องเจอเรื่องนี้อยู่ตลอด และในฐานะที่เป็นวิศวกรเมือง ต้องการเห็นการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
“การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะแก้แบบเดิมไม่ได้ อย่างแรกคือ ความเชื่อที่ว่าลอกคูคลอง ไม่ทิ้งขยะ จะช่วยไม่ให้น้ำท่วมนั้น ช่วยได้แค่บางส่วน วิธีคือต้องหยุดน้ำท่วมตรงจุดนั้นให้ได้ เราเห็นชัดเลยว่า น้ำท่วมจะเป็นกระจุก ไม่ว่าจะเป็น จตุจักร รามคำแหง สุขุมวิท ตอนนี้มีแหล่งใหม่ใกล้บางนา เมื่อรู้ว่าที่ไหนเป็นจุดตายของ กทม. ก็ควรทำแก้มลิงใต้ดิน เพื่อดึงมวลน้ำในช่วงฝนตกลงไปเก็บใต้ดินเพื่อรอระบายลงคลองในภายหลัง เพราะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง ในอนาคตจะมีผู้ว่าฯ กทม.กี่คนก็ควรทำ ใช้งบประมาณถูกมาก แต่ใช้งานได้นาน นี่จะเปลี่ยนประเทศไทยโดยสิ้นเชิง”
นี่คือเส้นทางการเมืองตลอดระยะเวลา 1 ปี ของ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่เขาบอกว่าชีวิตที่เหลือขอทุ่มแบบสุดตัวให้กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เพราะนอกจากเขาจะเชื่อ “พลังของประชาชน” ก็ยังเชื่อว่าการเมืองเป็นส่วนสำคัญ ชี้วัดว่าประเทศจะดีขึ้นหรือแย่ลง ดังนั้น คนที่เข้ามาทำงานการเมืองต้องเป็น "มืออาชีพ" ไม่อย่างนั้นก็จะทำแบบสุกเอาเผากิน ฉาบฉวย หรืออาจจะผูกปมปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก