"อภิมุข ฉันทวานิช"เลือดใหม่การเมือง ใต้ชายคาประชาธิปัตย์

25 ม.ค. 2566 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 08:18 น.

เปิดแนวคิดนักการเมืองเลือดใหม่ "อภิมุข ฉันทวานิช" ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 3 ใต้ชายคาพรรคประชาธิปัตย์ กับ "ประชาธิปไตยแบบสุจริต" เป็นจริงได้อยู่ที่ประชาชน

จากภาพความประทับใจในวัยเด็กของ "อภิมุข ฉันทวานิช" หรือ ออม สมัยตามบิดา "สมเกียรติ ฉันทวานิช" ลงพื้นที่ทำงานเพื่อสังคม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ใน เขตบางคอแหลม และ ยานนาวา เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ "อภิมุข" เจริญรอยตามบิดาเข้าสู่เส้นทางการเมืองและประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 3 สมัย

จนถึงวันนี้ด้วยประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมา จังหวะและโอกาสผนวกรวมกับความมุ่งมั่นตั้งใจ เขาก็พร้อมที่จะเดินเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 3 ใต้ชายคา "พรรคประชาธิปัตย์" สถาบันการเมืองที่เก่าแก่มากที่สุดของไทย 

"อภิมุข" ย้อนภาพความหลังในวัยเด็กให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็กชอบตามคุณพ่อลงพื้นที่มาทำให้ได้สัมผัสปัญหาต่าง ๆ เห็นชาวบ้านเข้ามาหาคุณพ่อด้วยปัญหาที่หลากหลายมีทั้งที่แก้ได้และแก้ไม่ได้

สิ่งที่ได้คืนกลับมาซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับตัวเขา นั่นก็คือ เวลาที่ได้แก้ปัญหาได้ เขาได้เห็นรอยยิ้ม ได้เห็นความสุขของคนที่กลับไปทำให้ผมรู้สึกเวลานั้นว่า การเป็น ส.ส. เป็นผู้แทนของประชาชน เราจะมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้มากกว่า

หลังเรียนจบและทำงานในปี 2548 "อภิมุข" ได้มีโอกาสลงสมัคร และได้รับเลือกเป็น ส.ก.สมัยแรกและได้รับเลือกเป็น ส.ก.ต่อเนื่องมา 3 สมัย กระทั่งปี 2557 เกิดรัฐประหารจึงว่างเว้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันนี้ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว "อภิมุข" ยังคงลงพื้นที่รับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่เดินเข้ามาหา รวมถึงร่วมกิจกรรมหรืองานเทศกาลต่าง ๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจปัญหาใน "เขตบางคอแหลม" อย่างทะลุปรุโปร่ง เช่นเดียวกับเข้าใจสภาพปัญหาของ "เขตยานนาวา" ในฐานะที่อาสาเข้ามาเป็น "ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส." ที่ตลอด 2 ปีนี้ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

"ผมไม่ใช่แค่เกิดและโตในเขตนี้เท่านั้นแต่ผมมีความเข้าใจปัญหาแบบลงลึก มันเลยจุดที่ผมจะไปนั่งถามลุงป้าน้าอาแล้วครับว่า ปัญหา คือ อะไร และเขาต้องการอะไร ของดีในเขตเรา คือ อะไรถ้าให้โอกาสผม ผมสามารถทำงานได้ทันที จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาและได้สัมผัสมาตลอดหลายปีนี้ ผมจะเชื่อมปัญหาที่มีอยู่ไปสู่การแก้ไขและเชื่อมโอกาสที่มีของคนในพื้นที่ไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น" 

"อภิมุข" ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ที่มีมุมมองทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาโดยวิเคราะห์การเมืองไทยในยุคของคุณพ่อ (สมเกียรติ) จนถึงยุคปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาว่า 

"ในอดีตเคยหวังว่า การเมืองไทยจะต้องดีขึ้น ผมเข้ามาทำงานการเมืองเมื่อปี 2548 ได้ยินคำว่า "ซื้อสิทธิ์ขายเสียง" ได้ยินคำว่า "อำนาจเงิน" และอำนาจรัฐต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ผมลงเลือกตั้ง 3 ครั้ง เคยเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง

ผมกล้าพูดได้ว่า วันนี้ยังไม่ดีขึ้นในเรื่องของการทำการเมืองแบบประชาธิปไตยสุจริต ซึ่งเป็นหัวใจที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามพูดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเวลานั้นเป็นคำใหม่มาก 

วันนี้ประชาธิปไตยที่กลับคืนมาและต้องเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่จบแค่การเลือกตั้งแต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่สุจริตจริงๆซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนเห็นความสำคัญ ในยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง เงินยิ่งมีอำนาจ เรื่องเหล่านี้หลายภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งจากผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระ

ที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้ประชาธิปไตยสุจริตจริง ๆ การเมืองที่คนที่อาสาตัวเองมาเป็นผู้แทนมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เป้าหมาย คือ ประเทศชาติโดยเอาผลประโยชน์ส่วนบุคคลไว้ข้างหลัง ผมว่า ถ้าเริ่มต้นแบบนี้การเมืองไปได้แน่" 

ก่อนจบบทสนทนา "อภิมุข" คลายข้อข้องใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเขาถึงเลือกทำงานอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ในขณะที่กระแสความนิยมของพรรคตกอยู่ในยุคที่ "เลือดไหลออกมากกว่าไหลเข้า" 

"เป้าหมายของผม ไม่ใช่การชนะเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวแต่เรายังมีอุดมการณ์ ผมไม่คิดว่าจะต้องย้ายไปอยู่กับพรรคที่มีกระแสที่ดีแล้วผมชนะเลือกตั้งแต่เป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่อยู่กับการเลือกตั้งครั้งเดียว แล้วการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็กระจัดกระจายกันไป

แม้ว่าจะมีคนเดินออกไปเยอะแต่เราก็ยังมั่นคงเพราะเชื่อความเป็นสถาบันของบ้านหลังนี้ ก็คงเหมือนกับเวลาที่เราอยู่บ้านหลังหนึ่งที่เก่าแก่ มีคนออกไปสร้างบ้านหลังใหม่กัน แต่สำหรับผมขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยซ่อมแซมบ้านหลังนี้ให้แข็งแรงกลับมาเหมือนเดิม การเมืองไทยต้องการพรรคการเมืองที่มันความเป็นสถาบันอยู่"