“ครึ่งชีวิตที่ผ่านมาเราเรียนรู้การเป็นผู้ปฏิบัติ ในฐานะของการเป็นข้าราชการ แต่อีกครึ่งชีวิตที่เหลือเราอยากเป็นคนที่เอานโยบายไปลงมือทำจริงให้เกิดผล โดยเป็นนโยบายที่ผ่านจากประสบการณ์ที่เราคิดเองทำเองได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่อยากทำ”
ใจความสำคัญตอนหนึ่งของบทสนทนาในช่วงบ่ายแก่ ๆ ของ “เต้ - อิทธิเดช สุพงษ์” นักการเมืองป้ายแดง ถ่ายทอดเรื่องราวของเขากับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตที่ตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากการเป็นข้าราชการทำเนียบรัฐบาลมายาวนานกว่า 20 ปี สู่สนามการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งภายใต้ชายคาของ พรรคภูมิใจไทย
เขาย้อนเรื่องราวชีวิตก่อนจะหันเข้าสู่วงการการเมือง โดยเขาเป็นครอบครัวข้าราชการ พ่อเป็นทหารและแม่เป็นครูได้รู้ ได้เห็น ได้ซึมซับการทำงานเพื่อสังคมและช่วยเหลือประชาชนจากครอบครัวมาตั้งแต่ยังจำความได้ เขาบอกว่าเรื่องแบบนี้อาจถูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอ ทำให้ตัวเองเลือกที่จะเป็นข้าราชการตามรอยพ่อแม่ แม้ว่าก่อนหน้าเคยคิดว่าอยากเรียนวิศวะ หลังจบมัธยมปลาย
แต่ท้ายที่สุดก็ได้ตัดสินใจเรียนปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยตอนนั้นอยากจบออกมาแล้วเป็นข้าราชการ เป็นนายอำเภอ หรือเป็นผู้ว่าฯ เพราะอยากทำงานกับชาวบ้าน จนเมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่งก็มีความฝันอีกอย่างเกิดขึ้น... ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กรัฐศาสตร์เกือบทุกคนสนใจ นั่นก็คือ “งานการเมือง” นั่นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันลึก ๆ ที่ว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นนักการเมือง เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหามากมายให้กับประชาชน
อย่างไรก็ดีความฝันที่ว่านั้น ได้ถูกแขวนเอาไว้ชั่วคราว เพราะหลังจากเรียนจบเขาเล่าว่า ได้ไปทำงานกับเอกชนในช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะเข้ามาทำงานราชการ โดยเริ่มจากเป็นลูกจ้างอยู่ที่ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการและได้มาประจำที่สำนักโฆษกตั้งแต่ปี 2547 จวบจนวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี ผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 7 คน
อิทธิเดช ยอมรับว่า งานราชการกับการเมืองก็คล้าย ๆ กันนั่นคือทำงานเพื่อประชาชน แต่ความเป็นราชการแท้ ๆ คือการรับนโยบายมาจากฝ่ายการเมืองแล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เรียกว่าผ่านและเห็นอะไรมามาก ส่วนตัวจึงคิดว่า หากมีโอกาสก็อยากต่อยอดงานเหล่านี้ แต่เปลี่ยนบทบาทจากข้าราชการมาเป็นนักการเมือง ซึ่งสามารถคิดและทำนโยบาย หรือมีเรื่องอื่น ๆ ที่ช่วยประชาชนได้รวดเร็วมากกว่า
แล้วโอกาสนั้นก็มาถึง... เขายอมรับว่า เส้นทางการเมืองของเขาเองนั้นมาเร็วกว่าที่คิดไว้มาก แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาก็คว้าเอาไว้ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการทำงานที่สำนักโฆษก เมื่อตำแหน่งใหญ่ขึ้นก็ได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนการเมืองที่ไหลเวียนเปลี่ยนผ่านมาในแต่ละรัฐบาล
ด้วยความที่อยู่สำนักโฆษกแล้วก็ทำงานกับโฆษกรัฐบาลมาเรื่อย ๆ ในจุดหนึ่งเมื่อเข้าไปคลุกคลีกับการเมือง โดยเริ่มจากเป็นหน้าห้องรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แล้วมาทำงานเป็นทีมงานของโฆษกรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสทำงานกับบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตั้งแต่ช่วงเป็นโฆษกฯ ก่อนไปนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส จนเมื่อมาถึงช่วงปลายปีก่อนพรรคภูมิใจไทยได้ดึงบี-พุทธิพงษ์มาดูเลือกตั้ง กทม. จึงได้มีโอกาสเข้าไปฟังแนวทางและนโยบาย
“ตอนนั้นเหมือนกับว่าทางพรรคต้องการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ ก็มีคนชักชวนให้ลองไปดู และเมื่อเข้าไปฟัง เพราะอยากเรียนรู้งานในเชิงการเมือง การกำหนดนโยบาย การเฟ้นหาผู้สมัคร การวางแผนเลือกตั้งทำยังไง แต่ตอนนั้นยังไม่ตัดสินใจลาออกจากราชการ แต่พอไปฟังและทำเวิร์คช็อป 4-5 รอบ ก็รู้สึกว่าโอเค ได้เห็นวิธีคิด ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เมื่อตกผลึกแล้วว่ามีโอกาสจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อทำตามความฝันที่เคยคิดไว้ว่าอยากทำงานการเมือง”
เขายอมรับว่า ส่วนตัวรู้สึกโอเคกับการทำงานของพรรคภูมิใจไทยมาก่อนหน้านี้ เพราะเห็นว่านโยบายหาเสียงหลายอย่างของพรรคสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะเรื่องของกัญชาเชิงการแพทย์ ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่และท้าทายมาก ๆ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ผลักดันจนสำเร็จ เช่นเดียวกับนโยบายกยศ.ไม่มีค้ำประกัน และสารเคมีทางการเกษตร ทั้งหมดได้ถูกหยิบมาทำให้เห็นแล้วทั้งสิ้น
ดังนั้นเมื่อได้เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาพรรคภูมิใจไทย แม้สนามใหม่คือ กทม.จะมีความท้าทายแต่ อิทธิเดช ยืนยันว่า พร้อมนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ในงานการเมืองให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้ โดยเฉพาะเรื่องของการปรับแก้ไขกลไกราชการ ด้วยการ ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และเพิ่มความสะดวกในการติดต่อราชการทุกช่องทาง
รวมไปถึงการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งทั้งหมดถูกกำหนดเอาไว้เป็นนโยบายของพรรคที่จะใช้หาเสียงในครั้งนี้ ทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เช่น การพักหนี้ รวมทั้งนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะผลักดันออกมาในอีกไม่นานนี้ เพื่อช่วยคลายความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เจอวิกฤตซ้อนวิกฤตอยู่ ณ ขณะนี้
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านทุกวัน เพื่อรับฟังปัญหา และแนะนำตัวให้ชาวบ้านรู้จักในฐานะของนักการเมืองสายเลือดใหม่ โดยในช่วงที่ผ่านมาพบปัญหาหลายอย่างของคนกรุง โดยเฉพาะในเขตคันนายาว และบึงกุ่ม ซึ่งมีปัญหารถเมล์น้อย โรงพยาบาลรัฐน้อย เรื่องเหล้านี้เป็นปัญหาที่ถูสะท้อนออกมาจากชาวบ้านตัวจริง และถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ทำออกมาเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านได้
“ด้วยความเป็นข้าราชการที่สำนักโฆษกเคยทำงานด้านการสื่อสารมาก่อน จะนำประสบการณ์เหล่านี้มาใช้ เพราะเรื่องการสื่อสารที่ชัดเจนสำคัญมาก ต้องพูดให้รู้เรื่อง สื่อสารให้ตรง ให้คนเข้าใจง่าย ต้องรู้ว่า คนฟังเราคือใคร เราพูดกับใคร นักวิชาการ นักธุรกิจชาวบ้าน แล้ววิเคราะห์ผู้ฟังได้ เข้าใจปัญหาของเขาว่าอยากรู้อะไร อยากเข้าใจอะไรแล้วหาวิธีการสื่อสารให้ตรงจุด ครองใจคน ถือเป็นประสบการณ์ที่เอามาปรับได้ในการทำงานการเมือง” เขาทิ้งท้าย
ประวัติการศึกษา
ประสบการณ์ทำงาน
งานสื่อสารมวลชน