เมื่อปีกลองการเลือกตั้ง 2566 เริ่มต้นขึ้น ดีกรีความร้อนแรงของเวที “การเมืองไทย” เริ่มคุกรุ่น ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า เดินสายลงพื้นที่พบปะประชาชน นำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองอย่างมากหน้าหลายตา ทำให้ “ฐานเศรษฐกิจ” สะดุดตากับนักการเมืองคนรุ่นใหม่จำนวนมาก
หนึ่งในนั้นมีเลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ฉายแสงได้อย่างโดดเด่น และน่าสนใจ นั่นคือ “นางสาวสิริเพ็ญโสภา บางท่าไม้” หรือน้องไอซ์ วิศวกรสาวจากเมืองย่าโม ที่วันนี้ขออาสามาเป็นผู้แทนของชาวโคราช พัฒนาบ้านเกิดให้เติบโต สมกับเป็นศูนย์กลางแห่งอีสาน
“ไอซ์ – สิริเพ็ญโสภา” เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่วงการการเมือง เหมือนเป็นชะตาฟ้าลิขิต เพราะไม่เคยแม้แต่คิดที่จะลงเล่นการเมือง แต่ด้วยวิชาชีพ “วิศวกร” ทำให้วันหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนต้องเข้าไปทำงานในรัฐสภา และมีโอกาสพบปะกับนายชวน หลีกภัย เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ท่านเป็นคนน่ารักแตกต่างจากที่เห็นในทีวีที่เราเห็นเคยสมัยเด็กๆ
ท่านพูดคุยกับเราเหมือนเป็นลูกหลาน จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสทานข้าวร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันจนท่านชวนทราบว่าเป็นคนโคราช ซึ่งโคราชเป็นเมืองที่มีความเจริญ แต่กลับเติบโตช้า เมื่อท่านถามว่า “ถ้าได้มีโอกาสจะทำหรือไม่?” เมื่อตกปากรับคำว่า “ทำ” ก็เข้าสู่กระบวนการคัดสรรของพรรค และนั่นคือก้าวแรกของชีวิตกับการสัมผัสวิถีการเมือง
“ไอซ์” บอกว่า ด้วยความเป็นคนที่ไม่ชอบวิจารณ์ หากไม่มีเหตุ เห็นคนที่เกิดความขัดแย้งทางอินเตอร์เน็ต เกิดการชุมนุมต่างๆก็อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และเรียนรู้ให้ครบทุกมิติ ก่อนที่จะขับเคลื่อน ก่อนที่จะทำอะไรหรือวิจารณ์อะไรในสิ่งที่เราไม่รู้อยู่ที่ตัวเรา เพราะจะดูไม่ดีกับตัวเรา
“ถามว่าทำไมต้องเป็นประชาธิปัตย์ คือ 1. ได้รับโอกาส 2. ตอนแรกพูดตรงๆ ไม่ชอบประชาธิปัตย์ (พูดแล้วหัวเราะ) เพราะเป็นคนอีสาน แต่พอได้เข้าไปในพรรค จากความไม่ชอบของเรา หายไปหมดเลย เพราะเราคิดไปเอง ตั้งกำแพงว่าประชาธิปัตย์ไม่เข้าใจคนอีสาน ไม่รักคนอีสาน แต่พอเข้าไปพบว่า ไม่ใช่อย่างที่คิด ทำให้เราเปิดใจ ยอมรับในความเป็นสถาบัน เราก็เป็นคนธรรมดาที่พรรคให้โอกาส และใกล้ถึงวันจริงพรรคก็ให้โอกาสลงเป็นว่าที่ผู้สมัคร ทั้งๆที่เราเป็นเด็ก ไม่มีเส้น ไม่มีสาย”
หลังลงพื้นที่ ไอซ์ไม่ได้มุ่งว่าจะได้เป็น ส.ส. อย่างเดียว แต่ได้เห็นโคราชในหลากหลายมิติหลากหลายพื้นที่และหลากหลายกลุ่มบุคคล บางกลุ่มที่เราไปพบและช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เราก็มีความสุขแล้ว ได้เป็นหรือไม่ได้เป็นสส. ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
เมื่อถามว่าเป็น “วิศวกร” แล้วทำไมอยากมาเป็นนักการเมือง
“ไอซ์” อธิบายให้ฟังว่า งานด้านวิศวกรก็เป็นเหมือนงานเซลล์ งานแม่ค้า ซึ่งเป็นเซลล์อีกลักษณะ ก็เหมือนกับส.ส. ที่ต้องรับความต้องการ (requirement) ลูกค้า ลูกค้าคือประชาชน เมื่อรับสารจากประชาชนมาก็ส่งสารถึงรัฐบาล เมื่อรัฐบาลซื้อความต้องการของเราก็จะนำกลับมาแก้ไขส่งให้กับประชาชน ซึ่งจากประสบการณ์ในการนำเสนอซอฟ์ทแวร์ให้กับเกษตรกร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
อนาคตเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดเป็นภาพใหญ่ของเกษตรกร หลังลงพื้นที่ทำให้เห็นมุมมองของกลุ่มคนในโคราชอย่างเขต 1 ที่ไอซ์เป็นว่าที่ผู้สมัครเราดู ความต้องการของพื้นที่ว่าอยากได้อะไร เราก็พัฒนาตรงนั้นก่อน เราใช้เวลาศึกษาวิเคราะห์อยากผลักดันเรื่องอะไรให้มากขึ้น พบปะพ่อค้าแม่ค้าในตลาด พูดคุยในหลายเรื่อง ซึ่งไอซ์บอกว่าเธอเดินตลาดได้โดยไม่อาย ถึงแม้ประชาธิปัตย์เสียงจะไม่ค่อยดีมากในอีสาน
“เพราะไอซ์เป็นคนโคราช เกิดและโตที่นี่ ตั้งแต่เด็กจนโตเห็นพรรคการเมืองในพื้นที่หลายพรรค วันนี้ไอซ์อยากจะบอกว่า โคราชมีพรรคการเมืองที่ได้โอกาสหลายพรรคแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาไปตามที่คนโคราชคาดหวังหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสถาบันการเมืองที่มีประสบการณ์ทำงาน แต่ไม่เคยมีโอกาสอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้มาทำงานให้คนโคราช คนรุ่นใหม่คนนี้ขอโอกาสให้คนโคราช เปิดใจ เพราะเชื่อว่า “เก่าเกม” กับ “คนรุ่นใหม่” น่าจะผสมผสานไปด้วยกันได้ดี”
นอกจากนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ยังมีนโยบายที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้น้องๆ ที่โตขึ้นมาไม่ต้องกังวล ถ้าเป็นสาขาที่ตลาดต้องการน้องๆเรียนฟรีได้ในสาขาที่ทำงาน นโยบายธนาคารชุมชนหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท จะเป็นธนาคารชุมชนที่ไม่ใช่แค่เงินกู้ยืม แต่จะมีการทำแผนการตลาด แผนการดำเนินงานโดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้ และอีกส่วนนำไปพัฒนาต่อยอดสอนเปิดทำธุรกิจในชุมชน สร้างความแข็งแรงในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อต่อยอดจาก 2 ล้านบาทเป็น 3 ล้านบาท เป็นต้น
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา “ไอซ์” ลงพื้นที่ต่อเนื่องแม้ช่วงเวลานั้นเธอยังไม่รู้ว่า จะได้รับการคัดสรรให้เป็น “ว่าที่ผู้สมัครส.ส.” หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือเกิดการระบาดของโควิด “ไอซ์” ก็ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านตลอดเวลา
น้องใหม่ในวงการเมืองวัย 34 ปี “ไอซ์” บอกว่า การอ่อนน้อมให้ความเคารพผู้ใหญ่ ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไม่ว่า ส.ส.เก่า ส.ส.ใหม่ บ้านใหญ่ บ้านน้อย เมื่อมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนโคราชมีความสุขที่ดีขึ้น ประเทศชาติดีขึ้นก็ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ส.ส.คนใดเป็นตัวแทนก็ยินดี
สิ่งที่ “ไอซ์” ยึดถือเป็นเหมือนคติพจน์ประจำใจคือ “Luck Is What Happens When Preparation Meets Opportunity" จาก Roman philosopher Seneca เพราะเธอเชื่อว่า เราต้องพัฒนาตัวเองให้พร้อมเสมอ เพราะคำว่าโชคชะตา เกิดจากการที่่เราเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อโอกาสลอยมาตรงหน้า เราสามารถคว้ามันได้ และนั่นแหละที่เรียกว่า “โชค”
วันนี้เป้าหมายของ “ไอซ์ - สิริเพ็ญโสภา บางท่าไม้” คือ ขอเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์คนแรกของโคราชในรอบ 20 ปี และอีกความใฝ่ฝันของเธอคือ การรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีมาจัดตั้งเป็นบริษัท เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้คนโคราชที่จบใหม่ มีงานทำไม่ต้องเดินทางไปทำงานในกรุงเทพ
ยังมีอีกหลายบทบาทที่ “ไอซ์” อยากทำ แต่ชั่วโมงนี้ไอซ์เลือกที่จะลงพื้นที่เพื่อพบปะและหาประสบการณ์ พร้อมกับนำเสนอนโยบายดีๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของ “ชาวโคราช”
ประวัติ “ไอซ์ - สิริเพ็ญโสภา บางท่าไม้”
ประถมศึกษา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ถือเป็นนักกิจกรรมตัวยงตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเธอได้รับเลือกให้เป็นแทนของโรงเรียนเข้าร่วมการแข่งกีฬาประจำจังหวัดทั้งนักวิ่ง นักวอลเลย์บอล และเชียร์ลีดเดอร์
มัธยมศึกษา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสุรนารีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เธอก็ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประจำจังหวัด เป็นผู้นำเชียร์ รางวัลชนะเลิศประเภทเดี่ยวและทีม ได้รับรางวัลชนะเลิศระจังหวัดและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการประกวด Miss to be No.1 , ได้รับรางวัลเรียนดีกิจกรรมเด่น และยังได้รับเลือกให้เป็นขวัญใจศิษย์เก่าดีเด่นประจำรุ่น
ปริญญาตรี สำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และดรัมเมเยอร์ ในงานฟุตบอลประเพณี รวมทั้งยังเป็นพิธีกรรายการกีฬา, แฟชั่น ทางช่อง TRUE รายการกีฬาวาไรตี้ช่อง T-Sport รายการภาพยนต์ ช่อง M CHANNEL รายการกฎหมายช่อง 5 ฯลฯ
นอกจากนี้ เธอยังเข้าอบรมในสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป11) ทำโครงการลดความเหลื่อมล้ำมิติทางด้านรายได้ ในโครงการ “ญาญอผ้าทอแห่งวัฒนธรรม” และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนไปจัดแสดงผลงานในงาน congress ที่ UN งานระดับโลก
ปัจจุบันเธอยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย