สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลายคนเช่นกัน หนึ่งในนั้น คือ ทันตแพทย์หนุ่ม "กันตพงศ์ ดีชัยยะ" หรือ "หมอแมพ" ผู้สมัคร ส.ส.เขตตลิ่งชัน พรรคไทยสร้างไทย
จากเคยเป็นเพียงคนหนึ่งที่เฝ้ามองการเมืองไทยอยู่ไกล ๆ ไม่เคยคิดว่าจะต้องเข้ามาสัมผัส ทำงานในแวดวงนี้มาก่อน แต่สถานการณ์โควิดกลับพลิกชีวิตของทันตแพทย์หนุ่มรายนี้ให้เข้าสู่ถนนการเมืองระดับชาติด้วยวัยเพียง 33 ปี
"ผมเห็นข่าวของประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการหาเตียงให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่เวลานั้นมีปัญหามากจึงเข้ามาช่วยในเรื่องของการหาเตียงให้กับผู้ป่วย เมื่อหาให้ได้ก็เริ่มมีข่าวกระจายออกไป ต่อมาได้ตั้งเป็นศูนย์ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วยและผู้ที่กักตัวซึ่งก็ช่วยไปได้เยอะ ที่ช่วยไม่ทันก็เยอะ"
จากสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจออกมาลุยงานการเมืองเต็มตัว
"ผมเป็นหมอฟันทำงานเต็มที่ ช่วยคนได้มากที่สุด 30-40 คน แต่ถ้าเราได้รับเลือกเป็น ส.ส. เป็นนักการเมือง ร่างกฎหมายและออกนโยบายที่ดีเราสามารถช่วยคนครั้งเดียวได้ถึง 70 ล้านคน ทั้งยังช่วยได้หลากหลายมิติอีกด้วย"
ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรคนั้น "หมอแมพ" คลายข้อสงสัยเรื่องนี้ว่า เข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เริ่มจากความคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือ สุธา ชันแสง อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนย่านฝั่งธนฯอยู่แล้ว
ในขณะที่ตัวเขาเองนั้นชื่นชอบนโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาท เพราะจากการลงพื้นที่ที่ได้เห็นผู้สูงอายุในชุมชนมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต เราทำงานในโรงพยาบาลเป็นหมอฟัน เราได้เห็นคนแก่ ๆ อยู่ต่างจังหวัดจะมาหาหมอทีก็แสนลำบาก ยิ่งลงพื้นที่ได้เห็นได้สัมผัสความเป็นอยู่ยิ่งทำให้เราเศร้าใจมากยิ่งขึ้น เบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับ 600 บาทจะอยู่กันได้อย่างไร
นอกจากนี้เมื่อมองจุดยืนทางการเมืองของพรรคแล้วก็มีความชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การไม่สนับสนุนขั้วตรงข้ามที่เป็นต้นเหตุของการก่อรัฐประหาร เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมพรรคไทยสร้างไทย
"ขออยู่กับพรรคกลาง ๆ ดีกว่าเพราะไม่ชอบทะเลาะกับใคร"
เป้าหมายใหญ่ในฐานะของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคไทยสร้างไทยเขตตลิ่งชันนั้น ไม่ต่างกับผู้สมัครรายอื่น ๆ นั่นคือ การได้รับเลือกเป็น ส.ส.เข้าสภาซึ่งต้องทำเต็มที่รวมถึงการลงพื้นที่ดูแลประชาชนซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
"ผมอยากเป็นนักการเมืองที่ balance ทั้งสองอย่างนี้ให้ดี ทั้งเรื่องของงานสภาและการทำงานในพื้นที่ให้ดี หมอแมพ จะเป็นแบบนั้นเป็นคนของพี่น้องประชาชน ดูแลกันเหมือนเดิม แต่คงไม่ใช่การทำให้ทุกคนรวยชั่วพริบตา อะไรที่ทำได้เราจะลงมือทำเลยเพราะความเดือดร้อนมันรอไม่ได้ ถ้าทำได้ก็ทำให้เลยแต่อะไรที่ทำไม่ได้ก็จะบอกเหมือนกันว่า ทำไม่ได้
การลงพื้นที่ทำให้เราเห็นถึงจุดบกพร่องของภาครัฐว่ามีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กรณีของผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงที่เวลาจะเดินทางไปหาหมอในแต่ละครั้งก็ต้องมีคนคอยอุ้มไปโดยได้มอบรถวีลแชร์เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายเวลาเดินทางมากยิ่งขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถนำไปเขียนเป็นกฎหมายออกมาเพื่อดูแลประชาชนกลุ่มนี้ได้เลย"
เวลานี้เรื่องของเศรษฐกิจปากท้องถือว่าสำคัญที่สุด แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมจะดีแต่ต้องยอมรับว่า คนที่จนแบบไม่มีอะไรจะกินนั้นลำบากมากยิ่งขึ้น ช่องว่างของรายได้มันห่างมากขึ้น
ผมพูดมาตลอดว่า ผมไม่ได้มาสู้ให้เท่าเทียม ความเท่าเทียมไม่มีจริงบนโลกนี้มันเป็นแค่วาทกรรมแม้แต่นิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลยแต่ทุกนิ้วต่างมีประโยชน์ ผมมาสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสของการเข้าถึงที่ต้องเท่ากัน
"ไม่อยากให้มองว่า ผมอายุน้อยเกินไปไหมที่จะทำงานการเมือง ผมเชื่อว่าถ้าเราเริ่มช้าเวลาเรียนรู้งานก็น้อย อยากให้มองที่ความตั้งใจอยากเข้ามาดูแลช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากให้มองย้อนกลับไปในวันที่ประเทศวิกฤตสุด ๆ นั้น ใครบ้าง คือ ต้นตอของปัญหา อยากให้มองว่า พื้นที่ของเรานั้นคนที่เคยได้รับตำแหน่ง คนที่เคยมีโอกาสและได้รับตำแหน่งแล้วนั้น เขาทำอะไรบ้างภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้ มองสิ่งใหม่แล้วเลือกสิ่งที่ถูก อยากให้แยกแยะไม่อิงกระแสมากเกินไป เลือกผู้แทนที่ควรจะเป็นผู้แทนของเราจริง ๆ