'เวียดนาม' ผงาด WEF พร้อมเป็นฮับการผลิต

16 ก.ย. 2561 | 03:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2561 | 14:56 น.
การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ในภูมิภาคอาเซียนปีนี้จัดขึ้นที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย. มีผู้แทนระดับผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนกว่า 1,000 คน จาก 43 ประเทศทั่วโลก โดยหัวข้อหลักในปีนี้ว่าด้วยเรื่อง ASEAN 4.0: Entrepreneurship and the Fourth Industrial Revolution หรือ อาเซียน 4.0 : การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 และการเสริมสร้างผู้ประกอบการ

นอกเหนือจากการนำเสนอศักยภาพของอาเซียนในหลากหลายมิติแล้ว เวียดนามในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมยังได้รับการฉายภาพเป็นจุดศูนย์กลางธุรกิจ การค้า และการลงทุน ทางเลือกใหม่ในภูมิภาค นอกเหนือไปจากจีน ซึ่งเวลานี้กำลังเผชิญหน้าทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มว่าผลพวงจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนแผ่วกำลังลง

 

[caption id="attachment_317119" align="aligncenter" width="302"] เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม[/caption]

เวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือไปจากจีน ส่วนหนึ่งเพราะเวียดนามมีสายสัมพันธ์การค้าที่ดีทั้งกับสหรัฐอเมริกาและกับจีน ในปีที่ผ่านมา (2560) สหรัฐอเมริกา คือ ตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 ของเวียดนาม โดยเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 46,500 ล้านดอลลาร์ และสถิติล่าสุดในเดือน ส.ค. 2561 นี้ ยังชี้ว่า การส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นถึง 12.5% และขณะเดียวกันการส่งออกจากเวียดนามไปยังจีนก็เพิ่มขึ้นถึง 30%

การลงทุนของต่างชาติที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม มีส่วนช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่เวียดนามในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าถึง 155,240 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติที่เข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนามเพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และส่วนหนึ่งในนั้น ได้แก่ บริษัท อินเทลฯ และซัมซุง บริษัทเอกชนจากจีนจำนวนมากสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามเช่นกัน เพื่อเป็นฐานการส่งออกหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีที่เกิดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้เวียดนามจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของระบบซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงเข้าสู่สหรัฐฯ และจีน แต่เวียดนามก็ต้องพร้อมที่จะตระหนักถึงปัญหาและสิ่งที่อาจเกิดตามมาเป็นผลพวงจากการหลั่งไหลเข้ามาของทุนต่างชาติ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่เกิดกระแสต่อต้านทุนจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม เนื่องจากผู้คัดค้านเห็นว่า กลุ่มทุนจีนเข้ามาฉวยประโยชน์มากเกินไป

เฟรดเดอริค เบิร์ก จากบริษัทกฎหมาย เบเกอร์ แมคคินซีย์ ในกรุงโฮจิมินห์ ให้ความเห็นว่า เวียดนามปูพรมแดงต้อนรับนักลงทุนต่างชาติทุกประเทศและพยายามตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน ถ้าหากจะเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตในเวียดนาม ก็นับว่ายังตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตในประเทศจีนอยู่มาก ตลอดระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ เวียดนามยังสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคี ซึ่งจะก่อให้เกิดบรรยากาศการค้าที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกไปแล้วก็ตาม


หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,401 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2561


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว