นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลเช็กได้ประการสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เศรษฐกิจเช็กก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอียู และกระทรวงการคลังเช็กได้คาดการณ์ล่าสุดว่าในปี 2563 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเช็กจะหดตัวอยู่ที่ระหว่าง -5.6% ถึง – 11% และมีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3 - 4% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มจาก 2 - 2.4% ในปี 2562 เป็น 8% (อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 3.4%) ในขณะที่ค่าเงินคอรูน่าของเช็กอ่อนค่าลงประมาณ 8.5 - 10% นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลให้ภาคการนำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้นทั้งในด้านราคาสินค้าและต้นทุนการขนส่ง และมีแนวโน้มว่าผู้นำเข้าอาจมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของเช็กก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังจากที่บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ต่างๆ ต้องปิดโรงงานและหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ สืบเนื่องจากปริมาณความต้องการรถยนต์ทั่วโลกลดลงและในขณะเดียวกันก็เกิดสภาวะการขาดแคลนอะไหล่และส่วนประกอบในห่วงโซ่อุปทาน และแม้โรงงานผลิตรถยนต์จะเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ความต้องการซื้อรถยนต์ในตลาดภายในประเทศและตลาดโลกได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีแนวโน้มว่า ยอดขายรถยนต์ยังคงไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในไตรมาสที่ 1 และ 2 และผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะสะท้อนถึงผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อันเป็นผลจาก โควิด-19 ได้ดียิ่งกว่าไตรมาสที่ 1
ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าจะลดลง 1.5% โดยประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายและการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะมีการชะลอการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากเช็กพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปเป็นหลักเมื่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรปยังคงประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างหนัก เช็กจึงยังไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
สำหรับการค้าระหว่างไทย-เช็กสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด -19 เป็น 2 กลุ่มคือ
(1) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบในทางลบ เนื่องจากค่ำสั่งปิดร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลให้ร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยไม่สามารถเปิดขายสินค้าได้ตามปกติ กอปรกับการอ่อนตัวของค่าเงินคอรูน่าส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น จึงทำให้ผู้นำเข้าเริ่มชะลอการนำเข้า และ (2) กลุ่มสินค้าอาหาร นับว่าได้รับผลกระทบในเชิงบวก โดยมีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าวที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 10% ในขณะที่สินค้าอาหารทั่วไป เช่น ผัก ผลไม้ ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5 - 7%
มูลค่าการค้าระหว่างไทย- เช็กในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 อยู่ที่ 233.12 ล้าน USD โดยมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าของไทยอยู่ที่ 175.34 ล้าน USD และ 57.78 ล้าน USD ตามลำดับ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 117.56 ล้าน USD มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้น 0.23% และได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น 8.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าเกษตร และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า การนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรจากประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 และ 4 อาจปรับตัวลดลงเนื่องจากประชาชนเช็กเริ่มชะลอการซื้อสินค้าอาหารเพื่อกักตุนไว้ในยามจำเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในเช็กมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปซึ่งเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าหลักโดยกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารและร้านกาแฟ (ภาค HOREKA) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงแรมและร้านอาหารแม้จะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแต่ยังไม่สามารถให้บริการในรูปแบบปกติ ส่วนอุปสรรคด้านการขนส่งนั้นยังไม่พบปัญหารุนแรง อาจมีเพียงความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้าทางอากาศและเกิดการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน แต่สำหรับสินค้าทั่วไปที่ขนส่งทางเรือยังคงสามารถดำเนินการส่งออกได้ตามปกติ
สำหรับผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบ และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน คาดว่าจะมีปริมาณการนำเข้าลดลง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น และความต้องการบริโภคภายในเช็กปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ในเรื่องทิศทางการลงทุนของเช็กในไทยและใน EEC เช็กมีศักยภาพที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ดังนั้นหากมีการผลักดันและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเช็กเข้าไปลงทุนในสาขาดังกล่าวในระดับนโยบายก็น่าจะเป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญสำหรับการพัฒนา EEC ของไทยต่อไป
แต่จากการประกาศใช้มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ทำให้รัฐบาลเช็กต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และภาคเอกชนเช็กเองก็ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้ในปัจจุบันเช็กมีแนวโน้มที่จะพิจารณาชะลอการลงทุนในต่างประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการเข้าไปลงทุนในไทยและ EEC ดังนั้นไทยจึงอาจให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในส่วนของ EECi โดยเริ่มจากความร่วมมือที่ยังไม่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก เช่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบัน Central European Institute of Technology, Brno (CEITEC) ของเช็กซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้าน Advanced Nanotechnology, Microtechnology และ Advanced Materials และมีห้องปฏิบัติการที่สอดกับสถาบันวิทยาสิริเมธ (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology: VISTEC) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สำหรับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวนั้นจากสถิติในเดือนมกราคม 2563 มีนักท่องเที่ยวชาวเช็กเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 9,000 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3) และระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2563 มีจำนวน 21,000 คน (ลดลงร้อยละ 17) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ภายหลังการประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานของประเทศไทยเป็นการชั่วคราวของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
กอปรกับรัฐบาลเช็กได้ออกมาตรการห้ามชาวเช็กเดินทางไปต่างประเทศ (หากไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับการยกเว้น) ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 จนกระทั่งถึงปลายเดือนเมษายน 2563 จึงเริ่มมีการผ่อนปรนให้ชาวเช็กสามารถเดินทางไปต่างประเทศในกรณีที่จำเป็น แต่ยังต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันภายหลังการเดินทางกลับเข้าประเทศหรือแสดงผลการตรวจ COVID-19 เป็นลบ ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวเช็กเดินทางเข้าประเทศไทยลดลง 100% และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนก็จะยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้เนื่องจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ขยายเวลาของประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารเข้าประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
อย่างไรก็ดี การดำเนินการของรัฐบาลไทยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับต่ำ ทำให้ศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทยเป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง การท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้จุดแข็งด้านระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้งนักท่องเที่ยวเช็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกลุ่มที่ประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย และการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็น medical hub ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียน่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ