thansettakij
สหรัฐลุ้นต่ออายุมาตรการแจกเงิน ต่อลมหายใจคนตกงาน

สหรัฐลุ้นต่ออายุมาตรการแจกเงิน ต่อลมหายใจคนตกงาน

30 มิ.ย. 2563 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2563 | 06:32 น.

มาตรการแจกเงินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งคล้าย ๆ กับ นโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาลไทยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ กฎหมาย CARES Act ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Coronavirus Aid, Relief and Economics Security Act โดยตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐได้ทยอยส่งเช็คเงินสดทางไปรษณีย์ให้แก่ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีราว 80 ล้านคนทั่วประเทศ

 

นอกจากเงินช่วยเหลือเยียวยาที่มอบให้กับประชาชนที่อยู่ในระบบของสำนักงานสรรพากรของประเทศสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service หรือ IRS) โดยคนโสดที่มีรายได้ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์/ปี จะได้รับเช็คเงินสดช่วยเหลือรายละ 1,200 ดอลลาร์ และคนมีครอบครัวหรือคู่สมรสที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์/ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 2,400 ดอลลาร์ บวกกับอีก 500 ดอลลาร์สำหรับบุตรแต่ละคน ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 75,000 ดอลลาร์/ปี ถึง 99,000ดอลลาร์/ปี หรือคู่สมรสที่มีรายได้ 198,000 ดอลลาร์/ปี ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือในสัดส่วนที่ลดหลั่นลงไป ซึ่งเหล่านี้เป็นเงินจ่ายให้ครั้งเดียวจบ  

สหรัฐลุ้นต่ออายุมาตรการแจกเงิน ต่อลมหายใจคนตกงาน

แต่ก็ยังมี เงินช่วยเหลือ อีกส่วนหนึ่งที่มุ่งช่วยเหลือเยียวยาบรรดา “ผู้ตกงาน” จากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มนี้จะได้รับเช็คเงินสดช่วยเหลือรายละ 600 ดอลลาร์/สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือ 16 สัปดาห์ ซึ่งระยะการจ่ายเงินเยียวยาได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 ทำให้เกิดเสียงร้องระงมในเวลานี้ว่า การยุติโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้ตกงานในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายและตลาดการจ้างงานยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก จะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันจำนวนถึง 20 ล้านคน

 

นางยูจีน สกาเลีย รัฐมนตรีแรงงานของสหรัฐ ยอมรับว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐกำลังพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ต้องปิดภาคธุรกิจบางส่วนอย่างสิ้นเชิงและทำให้มีผู้ตกงานจำนวนมากจากมาตรการดังกล่าว มีความจำเป็นที่ต้องผ่านร่างกฎหมาย CARES Act มาใช้เพื่อนำเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 และ ณ จุดนั้น การจ่ายเช็คช่วยเหลือเยียวยาผู้ตกงานรายละ 600 ดอลลาร์/สัปดาห์ เป็นเวลา 16 สัปดาห์เพิ่มเติมจากสวัสดิการช่วยเหลือผู้ตกงานที่เดิมมีอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก แต่มาถึงขณะนี้ เมื่อโครงการสิ้นสุดลง ความช่วยเหลือต่อไปในอนาคตอาจจะเป็นรูปแบบอื่น ๆ ไม่น่าจะเป็นการจ่ายเงินช่วยแบบที่ทำมาในรอบแรก   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐลุ้นต่ออายุมาตรการแจกเงิน ต่อลมหายใจคนตกงาน

อย่างไรก็ตาม สถาบันนโยบายเศรษฐกิจ หรือ อีพีไอ (Economic Policy Institute : EPI) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด พบว่า หากมีการต่ออายุโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ตกงานรายละ 600 ดอลลาร์/สัปดาห์ ต่อไปจนถึงกลางปีหน้า (2564) น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยหากทำเช่นนั้น จะช่วยประคองให้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวรายไตรมาสได้โดยเฉลี่ย 3.7% และนั่นก็จะหมายถึงการจ้างงานราว 5.1 ล้านอัตรา

 

นายจอช ไบเว็นส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของอีพีไอ ที่สนับสนุนแนวคิดการต่อเวลาการจ่ายเงินพิเศษช่วยเหลือผู้ตกงานออกไปอีกจนถึงกลางปีหน้า ขยายคำอธิบายว่า ตัวเลขประเมินข้างต้นนั้นใช้ข้อมูลจากสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นฐานในการคำนวณ  

 

“เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การทำเช่นนั้น (ต่ออายุการจ่ายเช็คช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้ตกงาน) จะทำให้ชาวอเมริกันมีเงินในกระเป๋าสำหรับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ค้าปลีกประคองธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องปลดพนักงานออกเพิ่มเติมอีก” ผอ.อีพีไอกล่าว พร้อมทั้งให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การยุติหรือตัดความช่วยเหลือเชิงนโยบายที่จะช่วยประคับประคองครัวเรือนชาวอเมริกันให้สามารถจับจ่ายใช้สอยในช่วงเวลาแบบนี้ จะเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก ไม่ว่าจะมองในแง่สวัสดิการครัวเรือนหรือการรักษาสเถียรภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างจีดีพีของสหรัฐ 10-15% พึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ การปล่อยให้โครงการจ่ายเงินพิเศษช่วยเหลือผู้ตกงานหมดอายุไป (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา) จึงเท่ากับเป็นการทำให้กำลังซื้อของคนอเมริกันมากกว่า 20 ล้านคนหายไปเกือบ ๆ 842,000 ล้านดอลลาร์ (จากข้อมูลของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ หรือ บีอีเอ)  

 

“เนื่องจากอุปสงค์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังแห้งเหือด มาตรการอะไรก็ตามที่จะช่วยให้ครัวเรือนยังคงมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้”  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ กล่าวสรุป

 

ข้อมูลอ้างอิง