ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กล่าวปราศรัยเนื่องใน วันฉลองวันชาติ 4 ก.ค. อยู่ใต้ประติมากรรมแกะสลักใบหน้าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ 4 คนบนหน้าผาเขารัชมอร์ ประกอบด้วยจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ทีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 26 และอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ท่ามกลางประชาชนราว 7,500 คนที่เข้ามาเต็มพื้นที่แน่นขนัดในบริเวณอัฒจันทร์ด้านหน้าของ อนุสรณ์สถานเมาท์รัชมอร์
รายงานข่าวระบุว่า มีหลายคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย โดยไม่สนใจคำเตือนของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ขอร้องให้ชาวอเมริกันหลีกเลี่ยงการชุมนุมที่มีประชาชนหนาแน่น เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เนื้อหาส่วนหนึ่งของการปราศรัยสะท้อนประเด็นความแตกแยกที่ยังคงมีอยู่ในสังคมอเมริกันมายาวนาน นั่นคือความเหลื่อมล้ำในสังคม การเหยียดเชื้อชาติ และความอยุติธรรม ที่ประทุออกมาเป็นความรุนแรงจากกรณีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ถูกตำรวจเมืองมินนิอาโปลิสจับกุมด้วยวิธีการรุนแรงจนเสียชีวิตเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโจมตีบรรดาผู้ประท้วงที่โกรธเกรี้ยวที่พยายามทำลายรูปปั้นของบรรดาผู้นำสมาพันธรัฐและรูปปั้นของบุคคลสำคัญอื่น ๆ ว่า การประท้วงต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันด้านเชื้อชาติในสังคมอเมริกันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำลายรูปปั้น สมบัติแผ่นดิน รวมทั้งการพยายามลบประวัติศาสตร์สหรัฐ กำลังคุกคามสิ่งที่เป็นพื้นฐานของระบบการเมืองของสหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ทรัมป์” เซ็นคำสั่ง โทษจำคุก 10 ปี มือดีทำลายอนุสรณ์ประวัติศาสตร์
ช่วงค่ำวันเดียวกัน ทางทำเนียบขาวได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐโดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางแสดงดอกไม้ไฟและเครื่องบินผาดแผลง ณ บริเวณลานใหญ่ใจกลางกรุงวอชิงตัน งานเลี้ยงครั้งนี้มีการเชิญบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่แพทย์-พยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่ทำงานบรรเทาสาธารณภัยฉุกเฉิน เข้าร่วมงานด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ที่ช่วยสหรัฐรับมือกับภัยคุกคามอันเกิดจากโรคระบาด รวมทั้งภัยจากเหตุความวุ่นวายของการชุมนุมประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผู้เข้าร่วมงานฉลองวันชาติได้รับถุงที่มีหน้ากากป้องกัน และเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคสำหรับใช้ในงาน ส่วนพนักงานเสิร์ฟอาหารมีการสวมถุงมือ พร้อมทั้งหน้ากากปิดปาก-จมูก และมีการเปลี่ยนเครื่องป้องกันเหล่านี้เป็นระยะ ๆ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้จัดการปราศรัยหาเสียงที่เมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งคณะหาเสียงของเขาถูกวิจารณ์ว่า ขาดความรัดกุมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่มาเข้าร่วมฟังการปราศรัย ท่ามกลางบริบทที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าใกล้ 3 ล้านคนเข้าไปทุกที นอกจากนี้ หลังการหาเสียงครั้งนั้น ยังมีการตรวจพบว่า เจ้าหน้าที่ในคณะหาเสียงหลายคนและผู้ทำหน้าที่อารักขา 2 ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลอัพเดตรายวันของเว็บไซต์ Worldometer พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐล่าสุดอยู่ที่ 2,890,588 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 132,101 ราย
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันชาติสหรัฐ 4 ก.ค.
(ขอบคุณข้อมูลจาก voathai)
เมื่อช่วงเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน (Revolutionary War) เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1775 รัฐอาณานิคมหลายแห่งไม่ได้มีความต้องการจะได้อิสรภาพอย่างเต็มตัวจากอังกฤษ กระทั่งเวลาล่วงเลยมาอีกกว่าปี ที่หลายฝ่ายเริ่มต้องการแยกตัวเต็มที่ เนื่องจากความไม่พอใจต่ออังกฤษที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1776 ที่มีการประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีป ที่อาคารที่ทำการรัฐเพนซิลเวเนีย (ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หออิสรภาพ - Independence Hall) ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และ ริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้แทนจากเวอร์จิเนีย เสนอญัตติให้รัฐอาณานิคมประกาศตัวเป็นอิสระ ซึ่งมีการอภิปรายอย่างดุเดือดจนต้องเลื่อนการลงมติออกไป แต่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่มีสมาชิก 5 คน รับหน้าที่ร่างแถลงการณ์แสดงเหตุผลของการแยกตัวออกจากอังกฤษ
ต่อมา ในวันที่ 2 กรกฎาคม สภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบการแยกตัวนี้ และ ริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้เสนอญัตตินี้ เขียนจดหมายถึงภรรยาของเขาว่า วันที่ 2 กรกฎาคม “จะเป็นวันที่มีการฉลองใหญ่ซึ่งจะสืบเนื่องต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น” ก่อนที่สภาแห่งภาคพื้นทวีปจะประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งกลายมาเป็นวันชาติอย่างเป็นทางการสืบมา
ส่วนประเพณีการฉลองความรักชาติของชาวอเมริกันเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางหลังสงคราม ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับอังกฤษอยู่ แต่การประกาศให้วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันหยุดแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 โดยสภาคองเกรส
และแม้ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ความสำคัญของวันหยุดต่าง ๆ ในแง่ของการเมืองจะค่อยๆ ลดลงเรื่อย ๆ วันประกาศอิสรภาพยังคงเป็นวันสำคัญของประเทศและสัญลักษณ์ของความรักชาติอย่างไม่เสื่อมคลาย
และเนื่องจากวันที่นี้ตรงกับช่วงกลางฤดูร้อน วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปีกลายมาเป็นจุดสนใจของกิจกรรมสันทนาการมากมายตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา โดยสมาชิกในครอบครัวชาวอเมริกันจะถือโอกาสกลับมาใช้เวลาร่วมกัน ด้วยการชมการแสดงดอกไม้ไฟและรับประทานบาร์บีคิวนอกบ้านกันอย่างคึกคัก โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การประดับธงชาติอเมริกัน และการบรรเลงเพลง The Star-Spangled Banner ซึ่งเป็นเพลงชาติประกอบนั่นเอง