นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นรัฐที่ยังมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูง ให้ความเห็นเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีท่าทีข่มขู่และ กดดันให้มีการเปิดโรงเรียนของรัฐ ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ (ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงเริ่มในราวเดือนก.ย. ถึงเดือนธ.ค.) โดยนายคูโอโมยืนยันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องการตัดสินใจของแต่ละมลรัฐ
ช่วงสุดสัปดาห์ก่อนการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกา (4 ก.ค.) สถิติการติดเชื้อใหม่ในรัฐนิวยอร์กนั้นยังอยู่ที่ระดับ 1.38% โดยมีผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 66,392 ราย มีผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) 918 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 395,872 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเขตปกครองย่อยของนิวยอร์กถึง 42 มณฑล แม้สถานการณ์จะดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังและควบคุมอย่างเข้มงวด
"การเปิดโรงเรียนเป็นการตัดสินใจภายในรัฐ นี่เป็นกฎหมาย และเป็นสิ่งที่เราจะดำเนินการโดยไม่ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีสหรัฐ ท่านประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการสั่งเปิดโรงเรียน เราจะเปิดโรงเรียนก็ต่อเมื่อมีความปลอดภัยที่จะเปิด และทุกคนต่างก็ต้องการที่จะเปิดโรงเรียนเช่นกัน" นายคูโอโมกล่าวย้ำ อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการให้มีการเปิดเรียนภายในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วง นั้นเชื่อว่ามีนัยยะทางการเมืองอยู่ด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค.) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความระบุเป็นอักษรตัวโตว่า “โรงเรียนจะต้องเปิดในฤดูใบไม้ร่วง” พร้อมกันนั้น เขายังขู่ว่าจะตัดงบของรัฐบาลกลางในการสนับสนุนโรงเรียนของรัฐ หากโรงเรียนดังกล่าวไม่เปิดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าชั้นเรียนภายในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง
"ในเยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และอีกหลายประเทศ ต่างก็มีการเปิดโรงเรียนโดยไม่มีปัญหา พรรคเดโมแครต (ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน) คิดว่าพวกเขาจะเสียเปรียบทางการเมือง หากมีการเปิดโรงเรียนก่อนการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. แต่การเปิดโรงเรียนมีความสำคัญสำหรับเด็ก ๆ และครอบครัว โดยโรงเรียนที่ยังไม่เปิดอาจถูกตัดงบสนับสนุนจากรัฐบาล" ข้อความในทวิตเตอร์ของทรัมป์ระบุ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวตำหนิศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ซึ่งได้กำหนดมาตรการที่เข้มงวดสำหรับการเปิดโรงเรียน โดยทรัมป์เห็นว่า มาตรการเหล่านั้น “เข้มงวดเกินไป”
"ผมไม่เห็นด้วยกับ CDC เกี่ยวกับการกำหนดแนวปฏิบัติที่ยากลำบากและมีค่าใช้จ่ายมากสำหรับการเปิดโรงเรียน ซึ่งในขณะที่ CDC ต้องการให้มีการเปิดโรงเรียน แต่พวกเขากลับเรียกร้องให้โรงเรียนทำสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยผมจะนัดหารือกับเจ้าหน้าที่ CDC ในเร็ว ๆ นี้" ทรัมป์ระบุดุเดือดในทวิตเตอร์
ถึงแม้ว่าการเปิดโรงเรียนของรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแต่ละมลรัฐ แต่แรงกดดันจากส่วนกลางและจากประธานาธิบดี เช่นการขู่ตัดงบสนับสนุน ก็ดูจะมีส่วนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวแล้วเช่นกัน เช่นกระทรวงศึกษาธิการรัฐฟลอริดา ได้ออกมารับลูกหลังคำประกาศของทรัมป์ ด้วยการออกแถลงเมื่อวันอังคาร ( 7 ก.ค.) ว่า ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง (เริ่มราวเดือนก.ย.) โรงเรียนจะต้องเปิดการเรียนการสอนอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐที่ยังคงมีอัตราการติดเชื้อสูง ได้ออกมาแสดงท่าทีว่า รัฐให้ทางเลือกแก่ผู้ปกครองที่ยังอยากให้ลูกหลานเรียนทางไกล สามารถทำได้ แต่สำหรับเด็กที่มาโรงเรียนนั้น จะต้องสวมหน้ากากป้องกัน
ด้านนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีซึ่งดูแลการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ออกมาประกาศที่ทำเนียบขาววานนี้ (8 ก.ค.) ไม่กี่ชั่วโมงหลังการทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับมาตรการที่เข้มงวดของ CDC ว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า CDC กำลังจะออกมาตรการใหม่เป็นแนวทางสำหรับการเปิดโรงเรียน ซึ่งมาตรการใหม่นี้ “จะไม่เข้มงวดจนเกินไป”
ดร.โรเบิร์ท เรดฟีลด์ ผู้อำนวยการ CDC ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่อยากให้มาตรการซึ่ง CDC ออกมาเพื่อเป็น “แนวทาง” ในการปฏิบัติสำหรับการเปิดโรงเรียน กลายมาเป็นเหตุผลที่จะถูกนำมาใช้ในการปิดโรงเรียน ทั้งนี้ มาตรการที่ CDC ประกาศออกมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติก่อนหน้านี้ (ซึ่งทรัมป์บอกว่าเข้มงวดเกินไป) ได้แก่ โรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนจะต้องเปิดหน้าต่างห้องเรียน ต้องตั้งโต๊ะเก้าอี้เรียนสำหรับแต่ละคนห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุตหากทำได้ และห้ามใช้โรงอาหารรวม ตลอดจนสนามเด็กเล่นก็ห้ามเปิดใช้ให้เล่นร่วมกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมไวรัสโควิด-19 ของทำเนียบขาว ได้เคยออกมากล่าวเตือนว่า รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐจะเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงตามมา หากมีการเปิดเศรษฐกิจหรือยุติมาตรการล็อกดาวน์ก่อนเวลาอันควรในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่
นักเรียนต่างชาติพลอยกระทบไปด้วย
เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา อธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า การเรียนการสอนในชั้นเรียนของวิทยาเขตทั้ง 23 แห่งของมหาวิทยาลัยจะถูกยกเลิกสำหรับภาคการศึกษาที่เริ่มต้นในเดือนก.ย. นี้โดยการเรียนการสอนจะจัดขึ้นทางออนไลน์แทน เนื่องจากคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของสหรัฐ (ก.ย.-พ.ย.) แต่กระนั้น การเรียนออนไลน์ก็กำลังถูกบีบและได้รับแรงกดดันทางการเมืองอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนชาวต่างชาติในสหรัฐ
โดยเมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกฎของนักเรียนต่างชาติสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีผลในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงในปีนี้ และจะทำให้นักเรียนต่างชาติภายใต้วีซ่าประเภท F-1 และ M-1 ที่ลงเรียนแต่วิชาทางออนไลน์ ไม่สามารถพำนักอยู่ในสหรัฐอีกต่อไป โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จะไม่ออกวีซ่าให้กับนักเรียนต่างชาติที่ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนและ/หรือหลักสูตรที่เรียนเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด ขณะเดียวกันหน่วยงานคุ้มครองอากรศุลกากรและเขตแดนสหรัฐ ก็จะไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มนี้เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาด้วย
นั่นหมายความว่า นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่ลงเรียนแบบออนไลน์ทั้งหมดในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ จะต้องเดินทางออกนอกสหรัฐ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ยังสามารถพำนักอยู่ในสหรัฐต่อไปได้ เช่น ย้ายที่เรียนไปยังสถานศึกษาที่ไม่ได้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด หรือเป็นการเรียนการสอนแบบชั้นเรียนปกติ หรือแบบผสมผสาน (มีทั้งเรียนออนไลน์และในชั้นเรียนปกติ) ไม่เช่นนั้น จะต้องเผชิญกับมาตรการด้านการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอาจรวมถึงการถูกส่งกลับประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและมหาวิทยาลัยเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) ได้มีความเคลื่อนไหวโดยได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลแล้วเมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) โดยฟ้องรัฐบาลสหรัฐกรณีออกคำสั่งดังกล่าว และทางมหาวิทยาลัยคัดค้านการระงับการออกวีซ่าให้พำนักในสหรัฐ แก่นักศึกษาที่เรียนเฉพาะทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรต้องรอดูกันต่อไป ขณะเดียวกัน นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ได้ออกมายืนยันว่า จะจำกัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เพียง 1-3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส และในห้องเรียนจะมีจำนวนคนไม่เกิน 12 คน (รวมครู) ด้านผู้ว่าการรัฐย้ำว่า เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเปิดเรียนอีกครั้งในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนส.ค. หรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง
Trump Threatens to Cut Funding if Schools Do Not Fully Reopen