จีนกำลังเดินหน้า “การทูตวัคซีน” และพร้อมแล้วสำหรับ “เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข” 

02 ธ.ค. 2563 | 23:23 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2563 | 07:06 น.

รัฐบาลจีนเคยให้คำมั่นว่าจะส่งมอบวัคซีนหลายล้านโดสให้แก่นานาประเทศทั่วโลก ตอนนี้จีนกำลังเตรียมความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่รับปากเอาไว้

จีนกำลังดำเนินนโยบายการทูต กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆทั่วโลก หรือที่เรียกกันว่า Vaccine Diplomacy โดยปัจจุบัน วัคซีนต้านโควิด-19 ของจีน อย่างน้อย 5 ตัว จาก 4 บริษัท กำลังอยู่ในกระบวนการทดลองทางคลินิกขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายและเป็นความร่วมมือกับ 16 ประเทศ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง จีนพร้อมส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ

 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในคลังสินค้าของท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้นทางภาคใต้ของประเทศจีน มีห้องควบคุมอุณหภูมิตั้งเรียงรายอยู่ด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณนี้สวมใส่ชุดกาวน์ หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง ใครก็ตามที่จะผ่านเข้าออกพื้นที่ส่วนนี้ของคลังสินค้าต้องผ่านการกักตัวมาแล้ว 2 สัปดาห์หรือไม่ก็ต้องสวมใส่ชุดป้องกันเชื้อโรคแบบเต็มตัวคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

 

ห้องควบคุมอุณหภูมิสำหรับเก็บวัคซีนในคลังสินค้า ท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น (ขอบคุณภาพข่าวซีเอ็นเอ็น)

ห้องเก็บสินค้าควบคุมอุณหภูมิเหล่านี้มีพื้นที่รวบทั้งสิ้น 350 ตารางเมตร ตระเตรียมไว้สำหรับเป็นที่จัดเก็บวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จีนเป็นผู้ผลิต ทันทีที่ได้รับการอนุมัติการใช้และส่งมอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแล ก็จะมีการลำเลียงมาเก็บไว้ในที่นี้ จากนั้นก็จะถูกขนส่งไปมอบให้แก่ประเทศต่าง ๆในหลายทวีปทั่วโลกด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าที่มีโซนควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ

 

ในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จีนมีแผนจัดส่งวัคซีนต้านโควิดจำนวนหลายร้อยล้านโดสมอบให้แก่ประเทศต่าง ๆที่ร่วมโครงการทดสอบวัคซีนขั้นสุดท้ายกับบรรดาบริษัทหรือหน่วยงานผู้พัฒนาวัคซีนของจีน นอกจากนี้ ผู้นำของจีนยังรับปากว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจะมีช่องทางในการเข้าถึงวัคซีนของจีนด้วย เนื่องจากจีนให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง

 

ท่าทีของจีนเกี่ยวกับโครงการส่งมอบวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประเทศต่าง ๆทั่วโลกนี้ นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จีนหวังจะใช้แก้ไขภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าบริหารจัดการเกี่ยวกับการควบคุมโรคได้ไม่ดีนักในระยะแรกๆ จีนกำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการเป็นผู้ช่วยยุติโรคระบาดร้ายแรงนี้ แทนที่ภาพเดิม ๆ ของการเป็นประเทศแรกหรือต้นตอของการแพร่ระบาด

 

การทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) ของจีน 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังมองด้วยว่า วัคซีนเหล่านี้กำลังจะเป็นเครื่องมือที่จีนใช้ดำเนินนโยบายทางการทูตสำหรับแผ่ขยายอิทธิพลและบทบาทของจีนไปยังประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยกลวิธีที่นุ่มนวล จัดเป็น soft power อย่างหนึ่ง

 

“การทูตวัคซีน ถือเป็นโอกาสที่จีนจะได้เชื่อมสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศอีกครั้งหนึ่ง” หยานจง ฮวง ผู้เชี่ยวชาญจาก Council on Foreign Relations ในกรุงวอชิงตันกล่าว พร้อมอธิบายว่า ก่อนหน้านี้แม้ว่าจีนจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ มอบให้กับหลายประเทศที่มีการแพร่ระบาด แต่กิจกรรมดังกล่าวก็มาพร้อมกับข่าวที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบเมื่อมีการตรวจพบว่า หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์บางอย่างที่จีนบริจาคให้กับหลายประเทศนั้น เป็นของไม่มีคุณภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนเข้าร่วมโครงการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม

วัคซีนต้านโควิดจีน ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยชีวภาพ

จีนเริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 เฟส 3 ในต่างประเทศ

ชาวจีนเกือบ 1 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว

 

รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ปัจจุบันจีนมีวัคซีนต้านโควิด-19 อยู่ 5 ตัวจากบริษัทผู้ผลิต 4 รายที่มีศักยภาพมากที่สุดและอยู่ในขั้นของการทดสอบทางคลินิกขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายและสำคัญที่สุดก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติการใช้งานอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันจีนมีโครงการความร่วมมือในการทดสอบวัคซีนขั้นที่ 3 ในประเทศต่าง ๆทั่วโลกอย่างน้อย 16 ประเทศ ซึ่งประเทศที่ให้ความร่วมมือในการทดสอบวัคซีนกับจีน ก็จะเป็นประเทศแรก ๆในโลกที่สามารถเข้าถึงวัคซีนของจีนหากการทดสอบต่าง ๆประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือบางประเทศจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนและจะมีการผลิตวัคซีนจีนในประเทศนั้น ๆด้วย   

จีนกำลังเดินหน้า “การทูตวัคซีน” และพร้อมแล้วสำหรับ “เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข” 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของจีนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง บริษัทมีข้อตกลงกับรัฐบาลบราซิลและตุรกีที่เข้าร่วมโครงการทดสอบวัคซีน โดยหากการทดสอบลุล่วงด้วยดี จีนก็จะส่งมอบวัคซีนต้านโควิดให้แก่บราซิลและตุรกีจำนวน 46 ล้านโดส และ 50 ล้านโดส ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงส่งมอบวัคซีน 40 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลอินโดนีเซียนำไปแยกบรรจุในประเทศอีกด้วย

 

ขณะที่บริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) ที่ร่วมพัฒนาวัคซีนกับหน่วยงานวิจัยของกองทัพจีน ก็มีข้อตกลงส่งมอบวัคซีน 35 ล้านโดสให้กับรัฐบาลเม็กซิโก ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่บริษัทมีโครงการทดสอบวัคซีนร่วมกัน  

 

ด้านบริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (China National Biotec Group) หรือ CNBG ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตยาของจีน แม้จะไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลมากนัก แต่ก็เปิดเผยว่า บริษัทกำลังทดสอบวัคซีนขั้นที่ 3 ใน 10 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ที่เมื่อเร็ว ๆนี้ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคทูม ผู้ครองนครดูไบ ได้อาสาสมัครที่จะรับการฉีดวัคซีนด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ และยังอนุมัติให้มีการใช้งานวัคซีนดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินได้แล้วในยูเออี  บริษัทท้องถิ่นของยูเออีที่มีข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับซิโนฟาร์ม เปิดเผยว่า บริษัทคาดหมายผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนระหว่าง 75-100 ล้านโดสในปีหน้า (2564)

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคทูม ผู้ครองนครดูไบ อาสาที่จะรับการฉีดวัคซีนจีนด้วยพระองค์เอง

นายหลิว จิ้งเจิน ประธานบริษัทซิโนฟาร์ม กล่าวเมื่อเดือนพ.ย.ว่า มีมากกว่า 24 ประเทศที่แจ้งขอซื้อวัคซีนจากบริษัทเข้ามาแล้ว แม้จะไม่สามารถเปิดเผยชื่อประเทศและจำนวนสั่งซื้อ แต่ก็บอกได้เพียงว่า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะผลิตวัคซีนต้านโควิดให้ได้มากกว่า 1,000 ล้านโดสในปี 2564

 

“ประเทศจีนไม่ได้มีเพียงความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะผลักดันการทูตวัคซีน แต่เรายังมีกำลังผลิตมากเพียงพอที่จะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวนี้” ผู้เชี่ยวชาญจาก Council on Foreign Relations ในกรุงวอชิงตันกล่าว และยังให้ความเห็นเสริมว่า เพราะจีนเองสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากนักที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้ง 1,400 ล้านคนก่อน นั่นหมายความว่า จีนสามารถทำข้อตกลงส่งมอบวัคซีนให้กับนานาประเทศที่จำเป็นต้องใช้วัคซีน ซึ่งแตกต่างจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” หรือ America First ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นเก็บวัคซีนไว้ให้ประชาชนภายในประเทศก่อน

จีนประกาศบริจาค 2,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 2 ปีข้างหน้าเพื่อช่วยนานาประเทศรับมือกับโควิด-19

เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข

“จนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้ยินจากฝั่งสหรัฐอเมริกาเลยว่า สหรัฐจะแบ่งหรือจัดสรรวัคซีนมอบให้กับประเทศยากจนมากน้อยแค่ไหน ณ ตอนนี้ จีนจึงอยู่ในสถานะที่จะสามารถใช้วัคซีนส่งเสริมเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศได้เป็นอย่างดี” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว นอกจากนี้ เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา จีนยังเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสนับสนุนการส่งมอบและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วให้แก่ประเทศต่าง ๆทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายขจัดการกักตุนวัคซีนไว้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มุ่งหวังให้คนที่มีความเสี่ยงสูงในแต่ละประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนตามความจำเป็น

 

โครงการดังกล่าวไม่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากการให้ความสนับสนุนใด ๆแก่ WHO ทำให้จีนได้เข้ามาแสดงบทบาทเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนย้ำว่า วัคซีนของจีนนั้นผลิตออกมาเพื่อแบ่งปัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศกำลังพัฒนา และจะทำให้วัคซีนจีนเป็นวัคซีนสาธารณะสำหรับโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงและซื้อหาได้โดยง่าย

 

ในการประชุมซัมมิตกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รับปากว่า เมื่อจีนพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ประเทศในทวีปแอฟริกาจะเป็นรายแรกในโลกที่ได้รับวัคซีนจากจีน  และเมื่อเดือนส.ค. นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนก็ประกาศว่า กัมพูชา เมียนมา ลาว ไทย และเวียดนาม จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับวัคซีนจากจีนเป็นประเทศแรก ๆ ประเทศอื่น ๆที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนกล่าวถึงยังได้แก่ อัฟกานิสถาน และมาเลเซีย

 

หลายประเทศที่กล่าวมานี้ อยู่ในโครงการความร่วมมือกับจีนที่เรียกว่าโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative ที่หลายคนเรียกง่าย ๆว่า โครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในระยะหลัง ๆ เจ้าหน้าที่ของจีนได้พูดถึง “เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข” มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงพูดถึงเปล่า ๆ จีนยังรับปากกับ WHO ในเดือนพ.ค. ว่าจะให้เงินบริจาค 2,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 2 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือนานาประเทศในการรับมือกับโควิด-19 นอกจากนี้ ยังประกาศจะให้เงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์แก่ประเทศในแถบละตินอเมริกาและแถบหมู่เกาะแคริบเบียนเพื่อใช้ในการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิดของจีนอีกด้วย