คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบารีของอิตาลี เปิดเผยผลการศึกษาที่ค้นพบว่า ส่วนประกอบของยาขับปัสสาวะ ซึ่งถูกใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง มี แนวโน้มช่วยรักษา อาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ได้ด้วย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการเอ็มดีพีไอ (Multidisciplinary Digital Publishing Institute) เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า กรดเอธาครีนิก ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาขับปัสสาวะบางตัว สามารถใช้เป็นตัวยับยั้งเชื้อไวรัสโควิดที่มีประสิทธิภาพ
วารสารระบุว่า แม้เป็นการศึกษาขั้นต้น แต่ข้อมูลนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากลยุทธ์การรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ยาขับปัสสาวะมักใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยการลดปริมาณโซเดียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ม.ค.) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบารี เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ประสิทธิภาพของยาขับปัสสาวะถูกค้นพบระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยาที่มีอยู่ ในการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "นำยาเก่ามาใช้ประโยชน์ในทางใหม่"
การศึกษาครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อปีก่อน (2563) ณ สำนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยบารี ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคมปัส ไบโอ-เมดิโค ในกรุงโรม ขณะที่อิตาลีและบางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยวัคซีนที่ได้รับอนุมัติการใช้งานแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ระบุว่าปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำลังถูกพัฒนาอยู่ 237 ตัวทั่วโลก โดยวัคซีน 64 ตัวอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงเยอรมนี จีน รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขระบุว่า ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ยาชนิดอื่นๆ รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างเต็มรูปแบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรียนรู้การใช้ “ยารักษาโควิด” จากกรณีโดนัลด์ ทรัมป์
แพทย์ใหญ่ทำเนียบขาว ชี้ยามาลาเรีย ไม่มีประสิทธิภาพรักษาโควิด-19
บ.อินเดีย จ่อวางขาย"ยารักษาโควิด" เม็ดละ 31 บาทส.ค.นี้
ยารักษาโควิดได้ผล ‘สหรัฐ’วิจัยสำเร็จ-ออสซี่พบวัคซีนสนองภูมิคุ้มกัน