สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (3 ก.ค.) ว่า หลายเมืองใน ประเทศบราซิล ได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ Folha de S. Paulo ที่ระบุว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขบราซิลได้บ่งชี้ว่า หน่วยงานของหลายเมือง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่ หมดอายุแล้ว อย่างน้อย 26,000 โดสให้กับประชาชน
ยกตัวอย่าง เมืองมารินกา ทางตอนใต้ของบราซิล ซึ่งถูกระบุชื่อในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวว่า ใช้วัคซีนหมดอายุส่วนใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,500 โดสฉีดให้กับประชาชนนั้น ทางการได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า วัคซีนเหล่านั้นดูเหมือนว่าได้หมดอายุแล้วในฐานข้อมูลสาธารณะ เพียงเพราะมีความล่าช้าในการลงทะเบียนข้อมูลใหม่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข
มาร์เซโล พุซซี เลขาธิการด้านสุขภาพของเมืองมารินกา ระบุในแถลงการณ์ว่า ไม่มีการใช้วัคซีนที่หมดอายุในมารินกา แต่เป็นความผิดพลาดของระบบเครือข่ายสาธารณสุขดังกล่าวข้างต้น ขณะที่เมืองอื่นๆ ก็ระบุว่าเป็นความสับสนเกี่ยวกับประเด็นข้อมูลเดียวกัน
รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเซา เปาโล, เมืองจุยซ์ เดอ ฟอรา และเมืองเบโล ฮอริซอนเต ซึ่งถูกระบุชื่อในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวด้วยนั้น ก็ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธการใช้วัคซีนโควิดหมดอายุฉีดให้กับประชาชนเช่นกัน
ทั้งนี้ การแจกจ่ายวัคซีนของบราซิลเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยรัฐบาลมีความล่าช้าในการจัดซื้อวัคซีน และกำลังเผชิญกับข้อหาเรื่องการคอร์รัปชันที่เกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนด้วย
อย่างไรก็ตาม บราซิล ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนหมดอายุให้ประชาชน ในบราซิล หน่วยงานที่ถูกพาดพิงได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหากันทั่วหน้า แต่ที่ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ มีตัวเลขสถิติจากทางการออกมายอมรับว่า เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดหมดอายุ
โดยเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จนถึงวันที่ 16 มิ.ย.2564 ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนแล้ว เป็นจำนวนมากกว่า 23 ล้านโดส โดยมี 139 กรณีที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดในการฉีดวัคซีน เช่น คำนวณระยะเวลาระหว่างวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ผิดไป หรือฉีดน้ำเกลือแทนจะเป็นวัคซีน เป็นต้น และในจำนวนนี้ ยังมีราว 70 กรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เช่น ใช้เข็มฉีดยาซ้ำหลายคน หรือใช้วัคซีนที่หมดอายุแล้ว โดยมี 23 กรณีที่ผู้รับวัคซีนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังยอมรับถึงกรณีความผิดพลาดในการเก็บรักษาวัคซีน เช่น อุณหภูมิในตู้แช่แข็งไม่เป็นไปตามกำหนด เพราะปลั๊กไฟหลุด หรือมีการนำของอื่นไปแช่รวมกัน ทำให้ต้องทิ้งวัคซีนไป เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ได้กำชับให้ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ รายงานกระทรวงถึงความผิดพลาดใด ๆก็ตาม ทันทีที่พบความผิดพลาดในการฉีดวัคซีน และขอให้หน่วยงานที่ฉีดวัคซีนมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้อีก เช่น ให้ทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วในทันที เพื่อป้องกันความสับสนและถูกนำมาใช้ใหม่