แกะปมขัดแย้งทางการเมือง ชนวนลอบสังหารโหดประธานาธิบดีเฮติ

07 ก.ค. 2564 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 20:37 น.

แม้การบุกสังหารนายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ เสียชีวิตคาบ้านพักในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวง จะเป็นการกระทำที่อุกอาจ แต่สำหรับชาวเฮติ พวกเขารู้ดีว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย และไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี

นายโคลด โฌแซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ เป็นผู้แถลงว่า นายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดี ถูก ลอบสังหาร โดย กลุ่มติดอาวุธ ที่ยังไม่ทราบสังกัด บุกเข้าไปยังบ้านพักของประธานาธิบดีก่อนรุ่งสางวันนี้ (01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) และครั้งนี้พวกเขาก็ลงมือทำได้สำเร็จ นายโมอิสเสียชีวิตด้วยบาดแผลฉกรรจ์ที่เกิดจากกระสุนปืน ขณะที่นางมาร์ตีน โมอิส ภริยาของเขา พลอยได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาล  “เราขอประณามการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม”

แกะปมขัดแย้งทางการเมือง ชนวนลอบสังหารโหดประธานาธิบดีเฮติ

นายโฌแซฟกล่าวในขณะแถลงข่าวว่า ผู้ลอบสังหารประธานาธิบดีเป็น “ชาวต่างชาติที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและภาษาสเปน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติของเฮติยังไม่สามารถจับกุมตัวกลุ่มผู้ก่อการ ได้แต่ระบุว่าตำรวจและหน่วยงานอื่นๆของรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ความสงบแล้ว หลังเกิดเสียงปืนดังขึ้นตลอดทั้งคืนในเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การลอบสังหารอุกอาจโดยกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวเกิดขึ้นจาก “ปมความขัดแย้งทางการเมือง” และภาวะไร้เสถียรภาพในเฮติตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้เคยมีความพยายามที่จะลอบสังหารนายโมอิสมาครั้งหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของเขา แต่คณะผู้ก่อการได้ถูกสกัดเอาไว้ได้ ทำให้แผนการล้มเหลวท่ามกลางการประท้วงเรียกร้องประธานาธิบดีเฮติให้ลาออกจากตำแหน่ง แต่นายโมอิสแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการเหนี่ยวรั้งเก้าอี้เอาไว้โดยหวังจะอยู่ในอำนาจต่อไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (2565)

 

นายโฌเวแนล โมอิส ประธานาธิบดีเฮติ เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่ขึ้นครองอำนาจขณะอายุ 40 ตอนปลายๆ ขณะเสียชีวิตเขามีอายุ 53 ปี บนเส้นทางการเมืองของนายโมอิสต้องผ่านความขัดแย้งและต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคฝ่ายค้านมานานนับปี เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ซึ่งนายโมอิสมองว่าวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของเขาควรสิ้นสุดลงในปีหน้า (2565) โดยมีสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และองค์กรในโลกตะวันตกหนุนหลัง

แต่ฝ่ายค้านแย้งว่า จริง ๆแล้วนั่นเป็นเพียงข้ออ้างของนายโมอิสที่จะสืบต่ออำนาจเพราะวาระการดำรงตำแหน่งของเขาควรจะหมดลงตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาเพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า วาระของประธานาธิบดีนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกตั้ง ไม่ใช่วันที่เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่ง

 

ด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงปอร์โตแปรงซ์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ แต่ประกาศปิดให้บริการตลอดทั้งวันพุธที่ 7 ก.ค.นี้ "ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย" สะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “ไร้ขื่อแป” และโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบระหว่างช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการผลัดเปลี่ยนผู้นำ