สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อของเวียดนามว่า ผู้เชี่ยวชาญของธนาคาร DBS ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจของเวียดนามคาดว่า จะเติบโตร้อยละ 6-6.5 ในทศวรรษหน้า หากทำได้ เวียดนามสามารถแซงหน้าสิงคโปร์ภายในปี 2573
ในปี 2563 เศรษฐกิจของเวียดนามมีมูลค่า 343,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่สิงคโปร์มีมูลค่า 337,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมาเลเซียมีมูลค่า 336,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เวียดนามมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก และอันดับที่ 4 ในอาเซียน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเวียดนาม กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะแซงหน้าทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ในปี 2564 แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมอย่างหนัก แต่เวียดนามยังคงมีการเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP) ร้อยละ 5.64 รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2563
แม้ว่า GDP เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.82 ในปี 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นโยบาย กลยุทธ์การควบคุม การแพร่ระบาดของโควิด-19 การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 Standard Chartered ระบุว่า บริษัทในอาเซียนมุ่งเน้นไปที่โอกาสภายในภูมิภาคและคาดว่า จะเติบโตแข็งแกร่งในอีก 12 เดือนข้างหน้า
จากการสำรวจของผู้บริหารระดับสูงระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการเติบโตในภูมิภาค คือ การเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใน อาเซียนที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต การเข้าถึงตลาดโลกที่มีข้อตกลงการค้าเสรีและความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะและ ความสามารถ นอกจากนี้คาดว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะดึงดูดการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามได้กล่าวว่า กำลังวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 80 มุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจในสิงคโปร์เพื่อรับโอกาสในการขายและการผลิต ตามด้วยประเทศไทย และเวียดนาม
เมื่อบริษัทในอาเซียนมองหาโอกาสในการลงทุนทั่วทั้งภูมิภาค สิงคโปร์ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับบริษัทต่าง ๆ ใน การจัดตั้งทีมงานและการตลาดระดับภูมิภาค สำนักงานใหญ่ และทีมวิจัยในการพัฒนา
นอกจากนี้การปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับ แนวทางปฏิบัติและเงื่อนไขของอุตสาหกรรมภายในอาเซียน การสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าและการปรับห่วงโซ่อุปทาน การทำความ เข้าใจกฎระเบียบในภูมิภาคและ วิธีการชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในอีก 6-12 เดือน เพื่อ สนับสนุนการเติบโต บริษัทต่าง ๆ กำลังหาพันธมิตรด้านการธนาคารที่มีความสามารถในการจัดการเงินสดที่แข็งแกร่ง บริการจัดหา เงินทุนและระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการแบบครบวงจร และบริการทางการเงินทางการค้าที่กว้างขวาง
นาย Michele Wee CEO ของ Standard Chartered Vietnam ได้กล่าวว่า เวียดนามยังคงเสนอโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนที่น่าสนใจ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ พนักงานจำนวนมาก ข้อตกลงการค้าเสรี และทำเลที่ตั้งที่เอื้ออำนวย
สคต. ณ กรุงฮานอย ชี้ว่า แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่มีเศรษฐกิจเติบโต ในเชิงบวกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตของภาคบริการ ช่วยให้เศรษฐกิจของ เวียดนามเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย จากการที่เวียดนามให้ความสำคัญการป้องกันโรคและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิผล รักษาเสถียรภาพ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับปรุงผลผลิตและความสามารถในการแข่งขันจะทำให้เวียดนามก้าว ไปสู่หนึ่งในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเติบโต
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความซับซ้อนจะส่งผลให้เกิด ความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงได้มีนโยบายทั้งป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความพยายาม ในการฟื้นตัวด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เวียดนามเติบโตคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ของเวียดนาม จากการคาดการณ์ดังกล่าวของธนาคาร DBS จะสร้างความ เชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ถืออีกหนึ่งโอกาสของนักลงทุนไทย ในการศึกษาข้อมูลเหล่านี้และพิจารณาเข้ามาลงทุนในเวียดนามได้