กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยวันนี้ (22 ก.ค.) ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 33,772 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 2,983,830 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดใน กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยการแพร่ระบาดได้ลุกลามไปทั่วทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย
ส่วน ยอดผู้เสียชีวิต จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงมีจำนวน 1,383 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และเป็นยอดเสียชีวิตรายวันที่สูงที่สุดในโลก ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโควิดในอินโดนีเซีย 77,583 ราย นับว่าเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน
วิกฤตที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียที่ไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รายวันของอินโดนีเซียที่พุ่งขึ้นสู่อันดับสูงที่สุดในโลก โดยแซงหน้าแม้กระทั่งอินเดียและบราซิล ทำให้คะแนนความนิยมในตัวผู้นำ คือนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดี จากการสำรวจล่าสุดหล่นวูบลงซึ่งไม่ผิดไปจากคาด
ผลสำรวจจากสถาบัน Lembaga Survei Indonesia (LSI) เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่ตอบว่าพึงพอใจกับการรับมือโควิด-19 ของปธน.วิโดโด ลดลงจากระดับ 68.9% ในเดือนธ.ค. มาอยู่ที่เพียง 59.6% ขณะที่ผู้ที่ตอบว่า “ไม่พอใจ” เพิ่มขึ้นจากระดับ 28.9% เป็น 37.2%
รายงานระบุว่า ผู้คนมากมายยังเชื่อว่าปธน.วิโดโดสามารถยุติการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้ แต่ระดับความเชื่อมั่นลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
แพลตฟอร์ม LaporCovid19 เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งล่าสุด ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระ “เกินขีดจำกัด” และประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนทั่วประเทศ เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้ง่ายนั้นได้กระจายไปทั่วอินโดนีเซีย โดยมีประชาชนอย่างน้อย 650 รายเสียชีวิตที่บ้านขณะกักตัว เพราะไม่สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
การติดตามการฉีดวัคซีนของบลูมเบิร์กระบุว่า มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วกว่า 57 ล้านโดสในอินโดนีเซีย ซึ่งครอบคลุมประชากร 11% ของประเทศ (อินโดนีเซียมีประชากร 276,361,783 คน เป็นตัวเลขประมาณการของสหประชาชาติ ณ วันที่ 1 ก.ค.2564) โดยระดับดังกล่าวน้อยกว่าในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ 48% และในสหรัฐอเมริกาที่ 53%
ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 83% ระบุว่า ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ แบบสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในเดือนมี.ค.-มิ.ย. 2564 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,200 คนจากทั่วประเทศผ่านทางโทรศัพท์ มีความคลาดเคลื่อนบวกลบราว 2.88%