ระบบแบบจีน เน้นลดเหลื่อมล้ำการศึกษา “ตัดไฟแต่ต้นลม” ลดอิทธิพลฝรั่ง

26 ก.ค. 2564 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2564 | 21:15 น.

จีนออกกฎกติกาเข้มด้านการศึกษาหลายข้อที่สะท้อนความเป็น “ระบบแบบจีน” แล้วจีนทำเพื่ออะไร ? ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ไว้ในเฟซบุ๊ก ดังนี้

ทางการจีนได้ออกกฎระเบียบล่าสุดที่กำหนดให้ธุรกิจด้านการศึกษา และบริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา หรือ Edu Tech รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ในจีนต้องเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร”

 

กฎใหม่ของจีนนี้ส่งผลให้หุ้นของบริษัท EduTech ของจีนร่วงลงอย่างหนักมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564

 

จีนทำเพื่ออะไร ดร.อักษรศรี วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาจากมุมของรัฐบาลจีน จะพบว่า นี่คือ ความพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในจีน  เพื่อป้องกันไม่ให้รุกลามไปสร้างปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา

 

ดร.อักษรศรีให้ข้อสังเกตว่า ทางการจีนมักจะ “ตัดไฟแต่ต้นลม”  และตัดวงจรก่อนปัญหาอื่น ๆ จะตามมา

 

กฎใหม่ของจีนที่ออกมาก็เพื่อจัดการกับโรงเรียนกวดวิชาและบริษัท Edu Tech ทั้งหลายที่เน้นธุรกิจมากจนสร้างความเหลื่อมล้ำให้ชาวจีนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินจ่ายให้ลูกหลานตัวเองเข้าติวกับธุรกิจกวดวิชาเหล่านี้

 

นอกจากนี้ ทางการจีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดูบุตรหลาน และลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (เช่น ต้องส่งลูกเข้า ร.ร.กวดวิชา) ของผู้ปกครอง เพื่อจูงใจให้คนจีนยอมมีลูกมากขึ้น ตาม “นโยบายลูกสามคน” เพื่อรับมือปัญหาผู้สูงอายุ aging society ของจีนในอนาคตด้วย

 

 

ดร.อักษรศรี ยังย้ำประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภายใต้กฎใหม่ จะมีการห้ามนำหลักสูตรของต่างชาติมาสอนใน ร.ร.เหล่านี้และห้ามจ้างครูต่างชาติมาเป็นผู้สอนด้วย  ซึ่งจีนดำเนินการอย่างเด็ดขาดมาก และชัดเจนว่า จีนต้องการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ต่างชาติที่อาจจะทำเนียนเข้ามาแทรกแซงปลุกปั่นเยาวชนจีน

 

อย่างไรก็ดี  ดร.อักษรศรีชี้ให้เห็นว่า เหรียญมีสองด้าน ทางการจีนที่เป็น regulator ทำเช่นนี้ ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นการปิดกั้นหรือดับฝันการเติบโตของอุตสาหกรรมการศึกษาและ Edu Tech ของจีนหรือไม่  รวมไปถึงประเด็นคนรุ่นใหม่และ startup จีนจะถูกควบคุมมากเกินไป หรือไม่

 

ระบบแบบจีน เน้นลดเหลื่อมล้ำการศึกษา “ตัดไฟแต่ต้นลม” ลดอิทธิพลฝรั่ง

 

ดร.อักษรศรี  ได้สรุปสาระสำคัญภายใต้กฎใหม่ด้านการศึกษาของจีน ไว้ดังนี้

 

1) ธุรกิจ Edu Tech และสถาบันกวดวิชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ระดมทุนหรือขายหุ้นสู่สาธารณะ

 

2) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีนก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการในธุรกิจดังกล่าวเช่นกัน

 

3) เงินทุนจากต่างประเทศจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่ภาคการศึกษาของจีนด้วย

 

4) ธุรกิจด้านการศึกษาในจีนห้ามนำหลักสูตรของต่างประเทศมาสอน และห้ามจ้างครูต่างชาติ มาสอนในสถาบันการศึกษาของตนด้วย

 

5) หน่วยงานกำกับดูแลของจีนจะหยุดการออกใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันกวดวิชาใหม่ๆ และจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาที่มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เข้มงวดยิ่งขึ้น

 

6) ควบคุมปริมาณสถาบันกวดวิชาไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป

 

7) นโยบายลดการบ้านหลังเลิกเรียน พร้อมห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนในช่วงสุดสัปดาห์

 

8)ห้ามใช้หลักสูตรออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 6 ปีหรือต่ำกว่า เพื่อลดความตึงเครียดจากการแข่งขันทางการศึกษาของเยาวชนจีน

 

9) มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาควบคุมสถาบันการศึกษาเอกชนโดยเฉพาะเพื่อกำกับดูแลค่าเล่าเรียน และจำกัดเวลาที่เด็กสามารถใช้ในโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้มากเกินไป

อักษรศรี  พานิชสาส์น

 

อ่านรายละเอียดได้จาก https://www.facebook.com/1037140385/posts/10223687420627009/?d=n