ในปีนี้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (The Communist Party of China : CPC) ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครบ 100 ปี และกุมบังเหียนนำพาประเทศจีนที่เคยเป็นประเทศยากจนล้าหลังให้สามารถฝ่าฝันวิกฤติต่าง ๆ จนผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้งได้อย่างไร ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์สรุป 12 คุณลักษณะเด่นและจุดอ่อนของระบบ“คอมมิวนิสต์”ในเวอร์ชันจีน ไว้ดังนี้
ข้อแรก พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่หมกมุ่นยึดติดอุดมการณ์ ไม่ใช่พรรคลัทธินิยมแต่เน้นปฏิบัตินิยม จึงมีการปรับประยุกต์นำระบบกลไกตลาดมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยที่ระบอบการเมืองยังคงเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพื่อเน้นรักษาเสถียรภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ข้อสอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนพัฒนา “โมเดลของจีนเอง” ไม่ลอกตำราฝรั่งจนหน้ามืดตามัว แต่นำแนวคิดทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและต่อยอด จนสามารถพัฒนาเป็นระบอบสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน ที่เรียกว่า Socialism with Chinese Characteristics
ข้อสาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradualism) เน้นการดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่ผลีผลาม ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นทดลองทำเป็นขั้นเป็นตอน หากทำแล้วได้ผล ก็ค่อยขยายผล ถ้าไม่สำเร็จก็จะหยุดทบทวนถอดบทเรียน ก่อนจะปรับแก้ไขเพื่อเดินหน้าต่อ เช่น ในยุคเติ้งเสี่ยวผิงมีการทดลองเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 4 เขตแรกเพื่อทดลองนำกลไกตลาดมาใช้ เมื่อได้ผลแล้วค่อยขยายผลออกไปในพื้นที่อื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศจีนหรือในยุคสีจิ้นผิง ก็มีการทดลองใช้เงิน Digital Yuan ใน 4 เมืองสำคัญ ก่อนที่จะขยายไปทดลองใช้ในอีก 28 กว่าเมืองในมณฑลต่าง ๆ ต่อไป
ข้อสี่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปรับ “ดิสรัป”ตัวเองให้ทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่องและเน้น R&D เช่น มีการปรับประยุกต์นำเทคโนโลยีมาจัดระเบียบสังคมของจีน เพื่อปรับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของคนจีนบางกลุ่มโดยการตัดคะแนน/ให้คะแนน “เครดิตทางสังคม” และลงโทษโดยใช้มาตรการ Social Sanctions/Rewards ภายใต้ระบบ Social Credit System ที่ถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้
ข้อห้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ทำตัวเป็นนกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดดินหนีปัญหา แต่จะยอมรับว่า ยังคงมีปัญหาและเน้นการวางแผนล่วงหน้าในการเตรียมรับมือกับปัญหา เช่น ยอมรับว่า ยังคงมีปัญหาความยากจนในจีน และประกาศทำสงครามกับความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2020
ข้อหก พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คิดใหญ่มองไกล มองชาติไปข้างหน้า มีความแน่วแน่และต่อเนื่อง จีนจึงมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน เช่น ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ที่ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2013 จนถึงวันนี้มีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าร่วม BRI กว่า 70 ประเทศ มีการวิเคราะห์ว่า จีนจึงจะครองโลกแบบเนียน ๆ ด้วย BRI
ข้อเจ็ด พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่า การดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาจากการสร้างความชอบธรรมจากผลงานที่จับต้องได้ จึงเน้น“รับฟัง” ข้อกังวลของประชาชนและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน เช่น ตระหนักดีว่า ปัญหาคอรัปชั่นจะทำให้ประชาชนไม่พอใจและอาจจะเป็นปมเงื่อนไขให้มีคนจีนออกมาประท้วงรัฐบาล ผู้นำจีนในยุคสีจิ้นผิงจึงเน้นปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง และเน้นรับใช้ประชาชน ประชาชนต้องมาก่อน (Renmin Di Yi)
ข้อแปด พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปลูกฝังให้คนจีนภูมิใจในชาติและรักชาติยิ่งชีพ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดความรักและสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้ คนจีนมีทัศนะที่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของจีนว่า เป็นศูนย์กลางของโลก (sino-centric) ดังนั้น ในยุคสีจิ้นผิงเน้นปลูกฝังการ “ฟื้นฟูชาติ” เพื่อให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง
ข้อเก้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนถอดบทเรียนความผิดพลาดในอดีต ล้มแล้วต้องลุกให้ไว และไม่ทำผิดซ้ำอีก เช่น กรณีประสบการณ์ความผิดพลาดจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ทำให้ทางการจีนระมัดระวังไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการกับการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง
ข้อสิบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจุดประกายให้คนในชาติมี “ความฝัน” ร่วมกัน การมี“ความฝันของจีน” (Zhong Guo Meng) ใน 2 วาระสำคัญ คือ (1) วาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021 ประเทศจีนต้องบรรลุเป้าหมาย “สังคมเสี่ยวคัง” พออยู่พอกินถ้วนหน้า และ (2) วาระครบรอบ 100 ของการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 ต้องบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย มีอารยธรรม ปรองดองและความสวยงาม และเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลก เพื่อฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่ในระดับโลกอีกครั้ง
ข้อสิบเอ็ด พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการแข่งขันภาคเอกชนและเปิดรับแรงกดดันจากภายนอกให้เอกชนจีนต้องตื่นตัวและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพื่อเอาชนะ เช่น การเข้าเป็นสมาชิก WTO และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทจีนต้องปรับตัวสู้กับต่างชาติ หรือการเปิดให้บริษัท Tesla เข้ามาลงทุนในจีนเพื่อให้บริษัทรถยนต์ EV ในจีนต้องตื่นตัว พัฒนาตัวเองปรับตัวให้รอดจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง/มีเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Tesla รวมทั้งการปล่อยให้เอกชนจีนแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้น เช่น การแข่งขันระหว่างเครือ Alibaba กับเครือ Tencent
ข้อสิบสอง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นความเด็ดขาดในการกลั่นกรองสื่อ/ปิดกั้นบางสื่อ โดยเฉพาะการผิดกั้นสื่อโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศ เช่น Facebook Twitter และ YouTube ในประเด็นนี้มีหลายมุมมอง มีทั้งนักวิชาการที่วิเคราะห์ว่า จีนทำเช่นนี้เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่เปิดช่องให้สื่อต่างชาติเข้ามาปลุกปั่นหรือสร้างความแตกแยกของคนในชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการปิดกั้นสื่อของจีนว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าชาวจีนจะไม่สามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียจากต่างชาติ แต่เอกชนจีนก็ได้พัฒนาสื่อโซเชียลมีเดียของจีนเองจำนวนมากและเป็นที่นิยมในหมู่ของชาวเน็ตจีน เช่น Weibo หรือ Youku เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หนึ่งในจุดอ่อนสำคัญของระบอบ“คอมมิวนิสต์”ในแบบของจีน คือ ความเสี่ยงจากการยึดตัวบุคคล/ผู้นำเป็นใหญ่ และไร้กลไกการตรวจสอบหรือคานอำนาจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ลัทธิบูชาบุคคล รวมทั้งการเปิดให้ผู้นำอยู่ในอำนาจแบบไร้วาระ/มีการให้อำนาจแก่ผู้นำหรือคณะผู้นำมากเกินไป หากมีผู้นำเผด็จการ/หลงอำนาจได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคฯ และเน้นแสวงประโยชน์เพื่อพวกพ้องตนเอง โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบเช่นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็อาจจะหมดความชอบธรรม จนถูกประชาชนลุกฮือออกมาประท้วงต่อต้าน (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ในที่สุด
นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เคยผิดพลาดบนเส้นทางที่ดำเนินมาในรอบ 100 ปีนี้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความผิดพลาดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคเหมาเจ๋อตงที่นำไปสู่ความวุ่นวายและฉุดรั้งให้ประเทศจีนล้าหลังไปนานนับ 10 ปี รวมทั้งความผิดพลาดในการจัดการเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จนทำให้หลายประเทศรุมประณามทางการจีน มีการประกาศตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจีนและคว่ำบาตรไม่ขายอาวุธให้กับจีน เป็นต้น
โดยสรุป แม้ว่าระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบจีนอาจจะไม่ใช่ระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดในโลก แต่นับว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับ “บริบทจีน”ที่มีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีความแตกต่างหลากหลายของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังคงมีช่องว่างทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก ดังนั้น ความเฉียบขาดเด็ดเดี่ยวในการเน้น “รักษาเสถียรภาพ” อย่างต่อเนื่อง และการปลูกฝังความรักชาติ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างความสามัคคีของคนในชาติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถดึงศักยภาพของคนในชาติและสร้างพลังทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดมาได้จนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ สามารถอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม “ถอดบทเรียนเส้นทาง 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน : : จุดอ่อนและ 12 จุดเด่นโมเดลพัฒนาจีน” ได้จาก https://thestandard.co/100-years-of-chinese-communism/
หมายเหตุ : ดร.อักษรศรี ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และไม่ได้ฝักใฝ่ในระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ให้ความสนใจเกาะติดพัฒนาการของ “ระบบจีนที่ไม่เหมือนใคร” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1992 ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง จนมาถึงยุคเจียงเจ๋อหมิน (1993-2003) ยุคหูจิ่นเทา (2003-2013) และยุคสีจิ้นผิง (2013- จนถึงปัจจุบัน) โดยได้เดินทางไปลงพื้นที่ในจีนครบทุกมณฑลและมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับจีนมาแล้ว 9 เล่ม