นายพลอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำการรัฐประหารใน เมียนมา แถลงในรายการซึ่งแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเมื่อวันอาทิตย์ (1 ส.ค.) ระบุว่า จำเป็นต้องมีการขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปเพราะเมียนมาจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศและเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่เปิดเสรีและเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมืองที่จะลงสมัครเข้าร่วมสนามเลือกตั้งที่คาดว่าจะจัดขึ้นได้ภายในเวลา 2 ปีนับจากนี้
“เราจำเป็นจะต้องเตรียมการหลายอย่าง ผมให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งที่หลายพรรคการเมืองได้เข้าร่วมแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จะไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเมียนมากล่าว และคาดการณ์ว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งดังกล่าวได้ราวเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ ในการแถลงแยกต่างหากของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเรียกตัวเองว่า “รัฐบาลรักษาการ” ได้มีการระบุถึงนายพลอาวุโสมิน อ่อง หล่าย โดยใช้คำเรียกตำแหน่งใหม่ว่า “นายกรัฐมนตรี”
ทั้งนี้ เมียนมาตกอยู่ภายใต้ภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินมาตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งการรัฐประหารครั้งนั้น กองทัพเมียนมาอ้างความชอบธรรมเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่กองทัพมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการร่าง
รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจครั้งนั้น โดยระบุว่ารัฐบาลของนางซูจีมาจากการเลือกตั้งที่พรรค NLD หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนาง ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเพราะการทุจริต อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น ก็ยังขาดหลักฐานมายืนยัน
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมา หรือรัฐบาลรักษาการ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ พร้อมประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่เพื่อเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปภายใน 2 ปี
รายงานข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประชาชนเมียนมาทุกสาขาอาชีพได้ออกมาเดินขบวนประท้วงแต่ก็ถูกรัฐบาลทหารโต้กลับด้วยความรุนแรง สถิติจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา ( Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่า นับจากวันที่ 1 ก.พ. จนถึงวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารเมียนมาจำนวนรวม 939 คน นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้เสียชีวิตที่เป็นตำรวจและทหารของเมียนมามีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเริ่มมีพลเรือนติดอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากขึ้น และหลายบพื้นที่ผู้ชุมนุมประท้วงก็ได้รับความสนับสนุนจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ
นายพลมิน อ่อง หล่าย ยังกล่าวถึงความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ต้องการเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาสันติภาพในเมียนมาว่า เมียนมานั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียนที่มีอยู่ รวมทั้งการเจรจากับผู้แทนพิเศษของอาเซียนในเมียนมาด้วย