หลังจากที่ กลุ่มนักรบตาลีบัน เข้ายึดครอง กรุงคาบูล เมืองหลวงของ อัฟกานิสถาน ได้อย่างรวดเร็วและไร้การต่อสู้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคืออะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในอัฟกานิสถาน ความสงบจะกลับคืนมาหรือไม่ ความหวั่นไหวสะท้อนชัดจากจำนวนผู้คนที่ไหลทะลักไปยังสนามบินนานาชาติในกรุงคาบูลเมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) เพื่อจับเครื่องบินเที่ยวสุดท้ายอพยพหนีออกนอกประเทศ เกิดเป็นภาพของความโกลาหลที่น่าตกใจและเศร้าสลดใจในเวลาเดียวกัน
นานาประเทศต่างแสดงความห่วงกังวล แต่ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความพยายามของหลายประเทศที่ต้องการเห็นการเดินหน้าของประเทศอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน ที่เมื่อวานนี้ประกาศชัดแล้วว่า พวกเขาปรารถนายุติสงคราม
"กูเตอร์เรส" เรียกร้อง UNSC สกัดภัยคุกคามจากการก่อการร้าย
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อสกัดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีต้นตอจากอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ นายกูเตอร์เรสยังเรียกร้องให้อัฟกานิสถานยังคงให้ความสำคัญต่อการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน หลังจากที่กลุ่มตาลีบันสามารถยึดครองประเทศ
"เราได้รับรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ และผมมีความวิตกโดยเฉพาะการละเมิดสิทธิต่อเด็กหญิงและสตรีในอัฟกานิสถาน โดยเราไม่สามารถทอดทิ้งชาวอัฟกัน" นายกูเตอร์เรสกล่าว
สหรัฐย้ำ อย่าละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวจากทำเนียบขาวว่า สหรัฐยึดมั่นต่อการตัดสินใจถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถาน เพราะเขาไม่ต้องการส่งบุตรชายและบุตรสาวของชาวอเมริกันเข้าไปที่อัฟกานิสถานอีก และไม่ต้องการให้ลูกหลานอเมริกันต้องเสียชีวิตที่อัฟกานิสถานมากไปกว่านี้ “หลังจากที่สหรัฐมีส่วนร่วมในสงครามอัฟกานิสถานมาแล้ว 20 ปี ไม่มีเวลาไหนที่ถูกต้องไปกว่านี้อีกแล้ว ในการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน”
ผู้นำสหรัฐย้ำว่า ทหารอเมริกันไม่ควรต่อสู้และพลีชีพในสงครามที่ทหารอัฟกันเอง ไม่คิดจะต่อสู้อย่างเต็มกำลังเพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง สหรัฐสูญเสียไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในสงครามอัฟกานิสถาน และเสียทหารไปถึง 2,420 นาย
แต่สิ่งที่เขาห่วงใยก็คือ ประเด็นสิทธิมนุษยชน แม้ว่าสหรัฐจะไม่กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถานอีกแล้ว แต่ก็จะให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อไป
รัสเซียชี้ชาวอัฟกันไม่มีเหตุผลต้องอพยพหนีตาลีบัน
นายดมิทรี เซอร์นอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอัฟกานิสถาน กล่าวว่า ชาวอัฟกันไม่มีเหตุผลที่จะต้องเดินทางออกจากประเทศเพราะความกลัวกลุ่มตาลีบัน
ทูตรัสเซียระบุว่า ความกลัวดังกล่าวออกจะเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล เนื่องจากตาลีบันบอกผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับชาติตะวันตกว่าไม่ต้องเดินทางออกไป เพราะตาลีบันพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพวกเขา
"ภาพที่เห็นว่ามีคนแห่กันไปที่สนามบิน ไม่ได้หมายความว่าชาวอัฟกันทั้งหมดต้องการที่จะหลบหนีออกจากประเทศ" นายเซอร์นอฟกล่าว
นอกจากนี้ สำนักข่าว RIA ของรัสเซียยังรายงานโดยอ้างอิงสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงคาบูลระบุว่า นายอัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้หลบหนีออกจากประเทศพร้อมกับขนเงินใส่ในรถยนต์จนเต็มคันรถ 4 คัน และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ เงินบางส่วนจำเป็นต้องทิ้งไว้บนรันเวย์ของสนามบิน เนื่องจากไม่สามารถขนเงินทั้งหมดออกจากประเทศได้
จีนเคารพการตัดสินใจของชาวอัฟกัน
นางหัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเผยว่า จีนเคารพการตัดสินใจของชาวอัฟกานิสถาน และหวังว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ โฆษกกลุ่มตาลีบันได้ประกาศว่า สงครามในอัฟกานิสถานได้ยุติลงแล้ว และต่อไปจะมีการประกาศสถาปนา "เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan)" ในเร็วๆ นี้ โดยกลุ่มตาลีบันจะรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองชาวอัฟกานิสถาน คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่กลุ่มตาลีบันสามารถเข้ายึดครองทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล
ทำไมคนถึงกลัวตาลีบัน
คำว่า “ตาลีบัน” เกิดขึ้นช่วงปี 1994 ในเมืองกันดาฮาร์ทางตอนใต้ของประเทศิอัฟกานิสถาน ในเขตติดกับปากีสถาน โดยถือเป็นกลุ่มติดอาวุธหลักกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้ในสงครามกลางเมือง เพื่อแย่งชิงอำนาจในอัฟกานิสถานหลังการถอยทัพของสหภาพโซเวียต ที่ตามมาด้วยการล่มสลายของรัฐบาล ณ เวลานั้น
สมาชิกกลุ่มตาลีบัน เดิมทีมาจากนักรบ “มูจาฮีดีน” ที่เคยต่อสู้ต้านทานทหารโซเวียตมาก่อน ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มตาลีบันยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ปี และก่อตั้งรัฐอิสลามในปี 1996 ด้วยระบอบกฎหมายอิสลามที่เข้มงวด และเมื่อ ถึงปี 1998 กลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้เกือบ 90% ไปแล้ว
ความเข้มงวดของกลุ่มตาลีบันนั้น พวกเขาห้ามไม่ให้มีการดูทีวี ฟังเพลง หรือดูภาพยนตร์ และต่อต้านการให้เด็กผู้หญิงที่อายุ 10 ขวบ และมากกว่านั้นไปโรงเรียน ผู้หญิงถูกลดบทบาททางสังคม ถูกบังคับแต่งกายมิดชิด และถูกเพิกถอนอิสระในการเลือกคู่ครอง กลุ่มตาลีบันถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมในหลายกรณี รวมถึงเมื่อปี 2001 พวกเขาทำลายพระพุทธรูปบามิยัน อันโด่งดังแม้จะมีเสียงประณามจากนานาชาติ
ในปี 2001 กลุ่มตาลีบันกลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังถูกกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงกับนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 หรือ “เหตุการณ์ 9/11” ที่ผู้ก่อการร้ายได้โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐอเมริกา เป็นข่าวไปทั่วโลก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้กองทัพที่สหรัฐสนับสนุน ได้บุกโจมตีกรุงคาบูล จากคำสั่งของจอร์จ บุช จูเนียร์ ด้วยการโจมตีทางอากาศสนับสนุนจากสหรัฐโดยในวันที่ 7 ต.ค. 2001 กองกำลังร่วมที่นำโดยสหรัฐ เริ่มบุกโจมตีตาลีบันในอัฟกานิสถาน และถึงสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. เครือข่ายของตาลีบันก็พังครืนลง
เวลานั้นกลุ่มตาลีบันแตกพ่าย กระจายไปตามพื้นที่ห่างไกลของประเทศ แต่ยังไม่ยอมพ่ายแพ้ พวกเขาทำสงครามต่อสู้แบบยืดเยื้อกับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ได้รับการหนุนหลังจากกองกำลังพันธมิตรชาติตะวันตกมาโดยตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ กลุ่มตาลีบัน ได้กลับมาครองอำนาจในประเทศอัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังจากกองทัพสหรัฐถอนทัพออกไป เชื่อว่าความปั่นป่วนในจากกรุงคาบูลจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ
รายการงานล่าสุดจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา มีประชากรมากกว่า 550,000 คนที่อพยพหนีภัยสงครามในอัฟกานิสถาน โดยตัวเลขผู้อพยพ แค่เฉพาะช่วงเวลาต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีประชากรอัฟกานิสถานราว ๆ 126,000 คนต้องไร้ที่อยู่ นับตั้งแต่กองกำลังสหรัฐประกาศถอนกำลังออก
คาดว่า ผู้อพยพหนีภัยสงครามจะหนีไปพึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ปากีสถาน อิหร่าน ทาจิกิสถาน และอาจเดินทางต่อไปยังตุรกี เพราะก่อนหน้านี้ มีชาวอัฟกันพลัดถิ่นทะลักเข้าตุรกีอย่างต่อเนื่อง