บุคลากรการแพทย์ของฟิลิปปินส์ หลายสิบคนรวมตัวประท้วงบริเวณหน้า กระทรวงสาธารณสุข ในกรุงมะนิลาในวันนี้ (1 ก.ย.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองความต้องการของบรรดาบุคลากร รวมถึงให้จ่ายค่าตอบแทนที่ยังคงค้างอยู่ และ ขับไล่นายฟรานซิสโก ดูเก้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ระบบสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
ปัจจุบัน ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของฟิลิปปินส์อยู่ที่ระดับเกิน 2 ล้านราย โดยในจำนวนนี้ 20% เป็นยอดจากในเดือนส.ค.เพียงเดือนเดียว ซึ่งส่งผลให้บุคลากรการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก และขณะนี้มีบุคลากรการแพทย์เสียชีวิตจากโควิดแล้วจำนวน 103 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งประเทศมีราว 33,500 ราย
นายโรเบิร์ต เมนโดซา ประธานเครือข่ายบุคลากรการแพทย์ของฟิลิปปินส์ขึ้นกล่าวปราศรัยระหว่างการประท้วงว่า "เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีเราหลายคนต้องสูญเสียชีวิต หลายคนล้มป่วย บางส่วนก็ตัดสินใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนเวลา แต่เรากลับต้องมาคุกเข่าขอร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าตอบแทนให้"
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังเร่งจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรการแพทย์ภายใน 10 วันนับจากวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากบรรดาเจ้าหน้าที่พยาบาลได้ขู่ว่าจะลาออก และสหภาพแรงงานประกาศเตรียมหยุดงานประท้วง
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ยังคงให้การสนับสนุนนายดูเก้ รมว.สาธารณสุข ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้นายดูเก้ลาออกจากตำแหน่ง หลังมีรายงานการตรวจสอบระบุว่า ในงบประมาณรับมือโควิด-19 ของฟิลิปปินส์วงเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น มีงบประมาณบางส่วนสูญหายไป
นางพยาบาลที่มาร่วมประท้วงในชุดป้องกันเชื้อโรคอย่างรัดกุมคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนแก่บุคลากรด่านหน้า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฮีโร่หรือวีรบุรุษ-วีรสตรีโควิด แต่เอาเข้าจริง ๆ จนถึงวันนี้แล้ว รัฐบาลก็ยังไม่ยอมจ่าย เป็นเรื่องน่าอนาจใจมากที่บุคลากรการแพทย์ต้องมาร้องขอค่าตอบแทนราวกับขอทาน ขณะที่นายดูเก้ รมว.สธ.ฟิลิปปินส์ กล่าววันนี้ (1 ก.ย.) ว่า รัฐกำลังจะจ่ายอยู่แล้ว แต่ขอเวลาอีกหน่อย
นอกจากการรวมตัวประท้วงหน้ากระทรวงแล้ว ทางสมาคมพยาบาลแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Nurses Association) ยังจุดกระแสประท้วงบนโลกออนไลน์ โดยเรียกร้องขอให้รัฐช่วยปรับปรุงสภาพการทำงานให้พวกเขา รวมทั้งขอเพิ่มบุคลากร เพราะขณะนี้พวกเขาราว 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ต้องทำงานภายใต้สถานการณ์วิกฤต หรือมีงานเต็มมือ 85% แล้ว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายวันในฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นสู่ระดับวันละ 22,366 รายซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ส.ค.)