มิว (Mu) เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest :VOI) สายพันธุ์แรกถัดจากสายพันธุ์แลมบ์ดา ที่ WHO ขึ้นบัญชีเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รายงานระบาดวิทยาฉบับล่าสุดของ WHO ระบุว่า มิวมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่งซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีคุณสมบัติทำให้มันหลุดรอดภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม
โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “มิว” ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อเดือน ม.ค.2564 และมีรายงานพบการระบาดในอีกหลายพื้นที่ของอเมริกาใต้และยุโรป แต่ยังไม่พบมากเท่าสายพันธุ์เดลตา
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์มิวในสัดส่วนเล็กน้อย แต่ก็แพร่ระบาดใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นทุกที โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจพบแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่า “มิว” มีคุณสมบัติต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนหรือติดเชื้อและหายแล้วหรือไม่
คุณสมบัติที่อาจดื้อต่อวัคซีน
พอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากองค์กรไม่แสวงหากำไร “เมเทอร์ เฮลธ์ เซอร์วิส” และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญมักจะมองหาสายพันธุ์กลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามที่ทำให้คนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ง่าย
“ถ้าโปรตีนหนามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็แน่นอนว่าวัคซีนที่เรามีอาจป้องกันได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นได้ต้องใช้เวลาสักระยะ ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น” นักวิชาการกล่าว
WHO กำลังวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสายพันธุ์มิว ขณะที่นายกริฟฟินกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ในขณะนี้ ว่ามิวเป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดภูมิคุ้มกันไปได้
สำหรับความชุกของการติดเชื้อทั่วโลกนับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรก ขณะนี้ยังตรวจพบสายพันธุ์ “มิว” ในสัดส่วนที่น้อยมาก ทั่วโลกมีพบระบาดอยู่ในอย่างน้อย 40 ประเทศ แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก พื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์ “มิว” มากที่สุดคือ ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งตรวจพบเป็นแห่งแรก มีอัตราความชุกที่ 39% และเอกวาดอร์ 13% แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีรายงานการระบาดในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนเอเชียตะวันออก มีการตรวจพบที่ญี่ปุ่น
โดยในกรณีการตรวจพบสายพันธุ์มิว ใน ผู้ติดเชื้อ 2 รายแรกที่ญี่ปุ่น นั้น มีรายงานยืนยันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 ก.ย.) โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รายแรกเป็นสตรีในวัย 40 ที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เข้าญี่ปุ่นวันที่ 26 มิ.ย. อีกรายเป็นสตรีในวัย 50 ปี เดินทางมาจากอังกฤษ ถึงญี่ปุ่นวันที่ 5 ก.ค. ทั้งคู่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ ผู้เดินทางจากต่างประเทศมาถึงญี่ปุ่น จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR และหากผลออกมาเป็นบวก (ตรวจพบเชื้อโควิด) ก็ต้องเข้ากักตัวในสถานที่ที่กำหนด หรือเขจ้ารับการรักษาตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบ ต้องเข้ากักตัว 14 วันที่บ้านหรือที่พักที่ทางการกำหนด
ยังไม่พบการระบาดในไทย
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลระบุว่า มิวเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่ามีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่จากรหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่า อาจจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้
5 สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (ต้องจับตาและศึกษาเพิ่ม) มีอะไรบ้าง
สำหรับโควิดกลายพันธุ์ทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ถูก WHO ขึ้นบัญชีเป็น สายพันธุ์น่าสนใจ (VOI) ได้แก่
ส่วน สายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC: Variant of concern) 4 สายพันธุ์ ได้แก่
โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสนั้น เมื่อเวลาผ่านไปไวรัสกระจายไปมากก็มีโอกาสกลายพันธุ์มาก ผู้เชี่ยวชาวชาญระบาดวิทยากล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดในการสกัดกั้นการกลายพันธุ์ของไวรัส คือจำกัดการแพร่กระจายด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้มากขึ้นเพื่อลดโอกาสที่ไวรัสจะมีชีวิตรอดในร่างกายมนุษย์