ต้นสายปลายเหตุการฉีด วัคซีนโควิดเด็ก ส่วนหนึ่งมาจาก มีการตรวจพบ ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดในปัจจุบันที่เป็นคนวัยเด็กมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่ค่อยมีผู้ติดเชื้อวัยเด็กมากนัก (อ่านเพิ่มเติม: สหรัฐเผยยอดผู้ป่วยเด็กติดโควิดใน รพ. พุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และ สหรัฐพบผู้ป่วยโควิดอายุน้อย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น ) ประกอบกับนานาประเทศต้องการลด-เลิกมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดระบบเศรษฐกิจ เปิดสถานประกอบการ รวมถึงโรงเรียน เพื่อค่อย ๆนำสังคมกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่การจะทำเช่นนั้นก็ต้องมีความพร้อมรอบด้าน หากไม่ต้องการกลับมาล็อกดาวน์หรือเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิดกันอีกในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมลงมาถึงประชากรวัยเด็ก (โดยการยินยอมของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง) ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกในสังคมที่แม้ขณะนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็จะช่วยลดปัญหาได้ในระยะยาว เรามาดูกันว่า ในแต่ละประเทศมีความคืบหน้าในเรื่องนี้กันอย่างไร
อียูอนุมัติใช้ไฟเซอร์สำหรับเด็ก ประเทศไหนฉีดแล้วบ้าง
ในยุโรปเริ่มมีความคืบหน้าชัดเจนในเดือนพฤษภาคม เมื่อองค์การยาแห่งยุโรป หรือ EMA (European Medicines Agency) อนุมัติการใช้ วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็กอายุ 12-15 ปี ตั้งแต่นั้นมาหลายประเทศในยุโรปก็เดินหน้าฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรวัยเด็ก โดยมีความคืบหน้าหรือความล่าช้าแตกต่างกันไป เช่น
สหรัฐบังคับฉีด โดยใช้ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา
ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แคนาดาและสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ฉีด วัคซีนไฟเซอร์ แก่เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ก็เริ่มมีการให้บริการฉีดวัคซีนแก่เด็กตามจุดต่าง ๆ โดยในสหรัฐจะฉีดวัคซีนให้เด็กกลุ่มวัยดังกล่าว 2 โดส ทิ้งระยะห่างกัน 3 สัปดาห์
ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค. ถึงสิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มแรกในกลุ่มเด็กวัย 12-17 ปีได้ราว 42 % ส่วนเด็กวัยนี้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วมีราว 32% โดยเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่ก็โมเดอร์นา ซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ให้สามารถใช้กับเด็กกลุ่มวัยนี้แล้วทั้งสองยี่ห้อ อัตราเร่งในการฉีดวัคซีนของสหรัฐนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐ หรือ CDC ที่ระบุว่า ในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในสหรัฐนั้น จำนวนเด็กที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคโควิด-19 จะสูงกว่าในรัฐอื่น ๆ 3.4-3.7 เท่า ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คณะกรรมการโรงเรียนในสหรัฐบางแห่ง ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการเชิงบังคับให้เด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เสียก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าชั้นเรียน แต่เรื่องนี้ก็ถูกคัดค้านโดยพ่อแม่-ผู้ปกครองของเด็กบางคน
ในนครลอสแองเจลิส เพิ่งมีการขยายคำสั่งบังคับฉีดวัคซีนให้ประชากรวัยเด็กซึ่งครอบคลุมนักเรียน 600,000 คน ขณะที่นครนิวยอร์ก เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนต้องรับวัคซีนทุกคน แต่ยังไม่บังคับฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียน
ในส่วนของผู้ผลิตวัคซีน บริษัทไฟเซอร์ซึ่งพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ร่วมกับบริษัท บิออนเทค ในเยอรมนี ได้เริ่มทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิดในเด็กที่อายุน้อยลงด้วย โดยคาดว่าผลการทดสอบครั้งแรกในเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี จะออกมาในเดือน ก.ย. นี้ ส่วนผลการทดสอบวัคซีนในเด็กทารกอายุ 6 เดือน ไปจนถึง 4 ปี คาดว่าจะออกตามมาภายในสิ้นปีนี้
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนต้านโควิดสำหรับกลุ่มเด็กเล็กคงจะมีออกมาในเร็ว ๆนี้ หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลได้ตรวจสอบข้อมูลจากการทดลองทางการแพทย์แล้ว
จีนฉีดวัคซีนซิโนแวคสำหรับเด็ก 3 ขวบขึ้นไป
ในเดือน มิ.ย. จีนเริ่มอนุญาตการฉีดวัคซีนที่ผลิตโดย บริษัท ซิโนแวค แก่เด็กอายุ 3-17 ปี ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติการฉีดวัคซีนต้านโควิดในกลุ่มเด็กอายุน้อยขนาดนั้น ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุม 80% ของประชากรจำนวน 1,400 ล้านคนให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้ แต่ตัวเลขเป้าหมายดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ตามหลักการแล้ว จีนไม่ได้บังคับประชาชนให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด แต่รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งถึงไม่บังคับ ก็เหมือนบังคับ เพราะมีการแจ้งไปยังนักเรียนว่า ถ้าคนในครอบครัวทุกคนยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 โดส นักเรียนก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าชั้นเรียนในภาคการศึกษานี้
นอกจากจีนแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่ใช้วัคซีนซิโนแวค ฉีดให้กับเด็ก ๆ ยังมีอีกหลายประเทศทั้งในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ยกตัวอย่างเช่น
ชิลี ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวค กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ขณะที่ทางบริษัทเพิ่งเริ่มการทดลองทางการแพทย์เพื่อทดสอบการให้วัคซีนในเด็กในแอฟริกาใต้อายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 17 ปี
แอฟริกาใต้ บริษัท ซิโนแวค กำลังทดลองทางคลินิกในการใช้วัคซีนกับเด็กทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงวัยรุ่นอายุ 17 ปี
อินเดียฉีดวัคซีนผลิตในประเทศ ให้เด็กที่มีปัญหาสุขภาพก่อน
องค์การยูนิเซฟประเมินว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรวัยเด็กและเยาวชนมากที่สุดในโลก คือประมาณ 253 ล้านคน สิ่งที่น่ากังวลคือ ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจทางวิทยาเซรุ่มแห่งชาติของอินเดียที่ระบุว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ขึ้นในอินเดีย มีเด็กราว 60% ที่เสี่ยงสัมผัสกับไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 แล้ว และมีแนวโน้มว่าเด็กบางคน ร่างกายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองแล้วจากการที่เคยติดเชื้อโควิด-19มาก่อน
ในเดือน ส.ค. หน่วยงานกำกับดูแลยาของอินเดียได้อนุมัติการใช้งานฉุกเฉินวัคซีนตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทเวชภัณฑ์ในท้องถิ่น คือบริษัทไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) โดยให้ใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป นับเป็นครั้งแรกที่มีการให้วัคซีนครอบคลุมประชากรวัยเด็กในอินเดีย ทั้งนี้ ในการรับวัคซีนซึ่งเป็นชนิดฉีดแบบไร้เข็ม (needle-free applicator) ต้องแบ่งฉีดเป็น 3 โดส และบริษัทหวังว่า ในเร็ว ๆนี้จะสามารถเริ่มการทดลองวัคซีนในเด็กอายุน้อยลงไปอีก คือ 2 ขวบขึ้นไป
“การให้วัคซีนแก่เด็กอายุ 12-17 ปีที่มีปัญหาทางสุขภาพร้ายแรง อาจจะเริ่มขึ้นได้ในเดือน ต.ค.นี้” ที่ปรึกษารัฐบาลอินเดียด้านวิทยาศาสตร์ระบุ แต่ถ้าเป็นการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกลุ่มเด็ก ๆ ในวงกว้างกว่านี้ คงยังไม่มีจนกว่าทางการจะบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชากรกลุ่มผู้ใหญ่ได้สำเร็จลุล่วงเสียก่อน ซึ่งตามกำหนดเป้าหมายนั้นคือภายในสิ้นปี 2564 นี้ (อ่านเพิ่มเติม: “วัคซีนโควิดเด็ก” ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก-ผู้ใหญ่ควรรับวัคซีนก่อน)
ข้อมูลอ้างอิง