จากกรณีที่กลุ่มบริษัทเหิงต้า หรือ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินท่วมสูงถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท ( 356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และชาวจีนกว่าร้อยคนบุกไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เรียกร้องให้บริษัทคืนเงินลงทุน หุ้นกู้ และเงินดาวน์โครงการ จนหวั่นกันว่าหากบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาฯจีนแห่งนี้ล้มจะกระทบเป็นลูกโซ่ นำไปสู่"วิกฤติซับไพรม์เอเชีย"ได้
ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าด้วยสถานะหนี้สินทั่วโลกของบริษัทไชน่าเอเวอร์แกรนด์ ที่มีมากถึง 356,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เทียบกับ"วิกฤติซับไพรม์"สหรัฐ ปี 2551-2552 สเกลยังเล็กกว่ามาก
ต้นเหตุปัญหาวิกฤติอสังหาของบริษัทฯ เกิดจากการปล่อยกู้ซื้อบ้าน ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเรียลเซ็กเตอร์ ขณะที่วิกฤติซับไพรม์มีสาเหตุนอกเหนือจากหนี้อสังหาที่สถาบันการเงินปล่อยกู้เป็นจำนวนมาก ยังมาจากการออก CDOs ( Collateralized Debt Obligations ) แปลงสินทรัพย์จากหนี้มาเป็นหลักทรัพย์ไปขายต่อ และออกตราสารอนุพันธ์ CDS( Credit Default Swap )ค้ำประกันความเสี่ยง เฉพาะมูลค่าความเสียหาย CDS ขณะนั้นกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือมีการเล่นแร่แปลธาตุ ซับซ้อนกว่า
"กรณีของ"ไชน่าเอเวอร์แกรนด์" หากล้มจริงสเกลเล็กกว่าวิกฤติซับไพรม์อยู่มาก และสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของภาคธุรกิจอสังหาฯ ทั่วโลก รวมทั้งการคุมเข้มของธนาคารกลางจีนที่ต้องการดัดหลังไม่ให้ธุรกิจอสังหาฯขยายเกินตัว"
รศ.ดร.สมภาพ กล่าวต่อว่า การทำธุรกิจของ" ไชน่าเอเวอร์แกรนด์"ในช่วงที่ผ่านมา เกินตัว (OVER) 4 ด้าน
1.ขยายเกินตัว โดยมีโครงการที่ยังค้างรวมกันกว่า 1.5 ล้านยูนิตที่ขายไม่ออก (เฉลี่ยยูนิตละ 80-90 ตารางเมตร )
2.กระจายเกินตัว เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก อาทิสโมสรฟุตบอล ธุรกิจอินเตอร์เน็ท รถยนต์ไฟฟ้า เฉพาะธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าลงทุนไปกว่า 40,000 ล้านหยวน ทำให้ในครึ่งปีแรก ต้องแบกขาดทุนถึง 4,000 ล้านหยวน โดยที่ยังไม่เริ่มผลิต
3.กู้ยืมเกินตัว โดยมีภาระหนี้กว่า 356,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10 ล้านล้านบาท และมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระภายในสิ้นปีนี้ จำนวน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายในปี 2565 อีก 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดูจากมูลหนี้แล้วเชื่อว่ารัฐบาลจีนไม่ยอมปล่อยให้ล้ม เพราะนอกจากหนี้สิน บริษัทฯยังมีอสังหาริมทรัพย์ตามที่ต่าง ๆเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะฐานลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มระดับบน
4.การใช้จ่ายเกินตัว เช่นการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ดังที่กล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ารัฐบาลจีนไม่ปล่อยให้บริษัทฯต้องล้ม เพราะธุรกิจอสังหาฯ เป็นรายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และให้ดีเวลลอปเปอร์เข้ามาพัฒนาที่ดินสร้างรายได้ อีกทั้งธนาคารกลางจีน มีทุนสำรองมากถึง1 ใน 3 ของทุนสำรองทั่วโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมองว่าอยู่ในขอบจำกัด และส่วนหนึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่รายนี้ ก็มาจากการที่รัฐบาลจีนต้องการจะคุมเข้มการขยายตัวที่โอเวอร์ฮีทนั่นเอง
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้มุมมองว่า ขนาดการลงทุนของ "ไชน่าเอเวอร์แกรนด์" ถือว่าสูงมาก ดังนั้นหากบริษัทล้ม มูลค่าความเสียหายจะราวครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะคุมอยู่ จะไม่ลามจนเกิดเป็นวิกฤติซับไพรม์
ทั้ง 2 กรณีมีความแตกต่าง กล่าวคือ วิกฤติซับไพร์มในสหรัฐปี 2551 เกิดจากเหตุการออก CDS หรือการเข้าไป"ค้ำประกันความเสี่ยงจากการล้ม ( default ) จนจุดชนวนส่งผลกระทบลามเป็นโดมิโน่ เกิดเป็น"วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" แต่กรณีของ"ไชน่าเอเวอร์แกรนด์"ส่งผลกระทบแค่ต่อตัวธุรกิจของบริษัทและบริษัทที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่มีลักษณะเชื่อมโยงต่อเนื่อง
"วิกฤติซับไพรม์ขณะนั้นเกิดจากปัญหาการปล่อยกู้โอเวอร์ฮีท ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ การออกตราสารอนุพันธ์ เข้ามาประกันความเสี่ยงการล้มละลายหรือ "CDS" จนผลกระทบลามไปสู่สถาบันการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ แต่กรณีที่เกิดกับบริษัทอสังหาฯ จีน ผลกระทบค่อนข้างจำกัดมาก จะเห็นว่าแม้แต่ตลาดหุ้นจีนเอง ก็กระทบแค่หุ้นและที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไชน่าเอเวอร์แกรนด์ เท่านั้น ผมไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่วิกฤติในจีนหรือลามไปสู่ทั่วโลก เป็นเหตุการณ์เฉพาะเท่านั้น และขณะนี้รัฐบาลจีนก็พยายามคุมธุรกิจอสังหาฯ โดยผ่านธนาคารกลางจีนอยู่แล้ว"