วิกฤติไฟฟ้าดับในจีน-โรงงานปิด สาเหตุและผลกระทบหนักแค่ไหน

04 ต.ค. 2564 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 11:04 น.

ปัญหาไฟฟ้าดับกำลังขยายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีน ส่งผลให้การผลิตตามโรงงานต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก รวมทั้งโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ นักวิเคราะห์คาดหากปัญหายืดเยื้อจะส่งผลต่อซัพพลายเชน และชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังโควิด

เวลานี้ จีน กำลังประสบปัญหา ขาดแคลนถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับการเพิ่มมาตรฐานด้านการปล่อยมลพิษ และความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ทำให้ราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุด

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือใช้วิธี “ระงับการจ่ายไฟ” ในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ ขณะที่สื่อทางทางการจีนรายงานว่า ช่วงเวลาการตัดไฟเริ่มเร็วขึ้นและนานขึ้นเรื่อย ๆ

 

ก่อนหน้านี้ บรรษัทการไฟฟ้าจีน สัญญาว่าจะจ่ายไฟให้ตามความจำเป็นและจะหลีกเลี่ยงการตัดไฟ ขณะที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติได้แจ้งไปยังบริษัทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้รับประกันว่าจะมีพลังงานเพียงพอสำหรับใช้สร้างความอบอุ่นตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

วิกฤติไฟฟ้าดับในจีน-โรงงานปิด สาเหตุและผลกระทบหนักแค่ไหน

ด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัญหาไฟฟ้าดับนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโรงงานต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ของจีน และอาจส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในปีนี้ชะลอตัวลง โดยธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์ คาดการณ์ว่า จีดีพีของจีนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อาจหายไป 1% หากปัญหาไฟฟ้าดับยังคงยืดเยื้อต่อไป

 

พยายามลดการใช้ถ่านหินดันราคาพุ่งสูง

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบัน จีนคือผู้ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกมากที่สุดในโลกเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนประกาศว่าจะลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2060 และเมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประกาศต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า จีนจะยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงงานที่ใช้ถ่านหินในต่างประเทศ

วิกฤติไฟฟ้าดับในจีน-โรงงานปิด สาเหตุและผลกระทบหนักแค่ไหน

โจแอนนา ลิวอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า คำประกาศนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันจีนคือผู้สนับสนุนด้านเงินทุนรายใหญ่สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศต่าง ๆ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี ค.ศ. 2013 - 2019 จีนอุดหนุนทางการเงินราว 13% ให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศจีน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ หลายเท่า

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน E3G ระบุว่า แม้จีนได้เลิกสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอื่น แต่จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนเองกลับเพิ่มขึ้นจำนวนมากเมื่อปีที่ผ่านมา (2563) ซึ่งการที่นโยบายใหม่ของรัฐบาลปักกิ่งจะได้ผลนั้นจำเป็นต้องมีการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนเองพร้อมไปกับการไล่ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ๆ ด้วย แต่หากเป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นการซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าที่จีนกำลังเผชิญอยู่

อุปสงค์การใช้ไฟฟ้าพุ่งหลังเปิดประเทศ-ฟื้นเศรษฐกิจ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สถานการณ์พลังงานของจีนในปีนี้อาจจะดูรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้มีหลายปัจจัยลบประดังเข้ามาพร้อม ๆกัน หนึ่งในนั้น คือหลังจากที่จีนผ่านพ้นช่วงวิกฤติของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้ระดับหนึ่ง เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความต้องการอุปโภคบริโภคก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้มีความต้องการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ  ไม่เพียงเฉพาะในจีนเท่านั้นเพราะหลายประเทศกำลังพื้นตัวและเปิดเศรษฐกิจ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจากจีน แต่การเพิ่มกำลังการผลิตจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น นั่นก็มีส่วนทำให้ราคาถ่านหินขยับสูงขึ้นด้วย

 

แต่เนื่องจากรัฐบาลจีนควบคุมราคาค่าไฟอย่างเข้มงวด ผู้ประกอบการโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน จึงไม่สามารถขึ้นราคาค่าไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจ แต่โรงงานเองก็ไม่ต้องการผลิตไฟฟ้าอย่างขาดทุนเช่นกัน จึงหันมาใช้วิธีลดปริมาณการผลิตแทน เมื่อปริมาณผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง หลายพื้นที่จำเป็นต้องมีการปันส่วนใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นครัวเรือนทั่วไปและผู้ใช้ในฐานะผู้ประกอบการ

 

หนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ สื่อของพรรคคอมมวนิสต์จีนเปิดเผยว่า ภาวะการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าจนถึงขั้นไฟฟ้าดับนั้นเกิดขึ้นใน 4 มณฑลใหญ่ ได้แก่ กวางตุ้งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เฮยหลงเจียง จี้หลิน และเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่นอกเหนือจาก 4 มณฑลนี้แล้ว ก็ยังมีรายงานการตัดการใช้กระแสไฟฟ้าในอีกหลายพื้นที่

 

อุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าสูง กระทบทั่วหน้า/เอกชนปันส่วนใช้ไฟฟ้า 

บริษัทเอกชนในหลายพื้นที่ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ถูกขอความร่วมมือให้ลดการใช้พลังงานในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูงสุด บ้างก็ถูกขอให้ลดจำนวนวันทำงานลง รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ กำลังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิตที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมหลอมอะลูมิเนียม การผลิตปูนซีเมนต์ และการผลิตปุ๋ย

 

สถิติในเดือนก.ย.2564 ชี้ว่า กิจกรรมการผลิตของโรงงานในจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในช่วงเวลาดังกล่าวและเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อควบคุมโควิด-19

 

โกลด์แมนแซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ลงมา จากเดิมที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะโตในอัตรา 8.2% ในปีนี้ ก็ลดลงเหลือเพียง 7.8% ส่วนกิจกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตของจีนนั้น คาดว่าได้รับผลกระทบราว 44% จากวิกฤติขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในครั้งนี้

 

ในระดับโลกนั้น คาดว่าภาวะขาดแคลนไฟฟ้าในจีนจะทำให้เกิดภาวะสะดุดขัดในห่วงโซ่การผลิต ผลกระทบจะเห็นได้ชัดในช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี จีนเองพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงงานผลิตในภาคตะวัยนออกเฉียงเหนือของประเทศ เพื่อให้โรงงานสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มความมั่นใจเกี่ยวกับปริมาณถ่านหินให้เพียนงพอใช้สำหรับโรงงาน และนำมาตรการแบ่งสันปันส่วนกระแสไฟฟ้ามาใช้