คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล มีมติให้ มาเรีย เรสซา นักข่าวสาวชาวฟิลิปปินส์ และ ดีมิทรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021
เบริต ไรส์-แอนเดอร์เซน ประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลกล่าวว่า เรสซาและมูราตอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์และรัสเซีย พวกเขาเป็นตัวแทนของนักข่าวทุกคนที่ลุกขึ้นสู้เพื่ออุดมคตินี้ในโลกซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อกำลังตกต่ำลงอย่างมาก
มาเรีย เรสซาเคยเป็นหัวหน้าสำนักข่าว CNN ประจำกรุงมะนิลาและจาการ์ตา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวแรพเลอร์ (Rappler) ซึ่งเปิดโปงการใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐบาลฟิลิปปินส์
เมื่อปี 2562 เรสซาเคยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลกในโครงการ 100 Women ของสำนักข่าวบีบีซี เธอเคยได้รับข้อความขู่ฆ่าและข่มขืนผ่านทางสื่อออนไลน์ จากการเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความรุนแรงจากการดำเนินนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ อย่างตรงไปตรงมา โดยในปีดังกล่าว เธอถูกจับกุมถึง 2 ครั้งในข้อหา "หมิ่นประมาททางไซเบอร์"
ขณะที่ดีมิทรี มูราตอฟเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อิสระของรัสเซีย เขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารมา 24 ปี และทำหน้าที่แข็งขันในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในรัสเซียภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้น แม้แต่โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย นายดมิทรี เพสคอฟ ยังกล่าวชื่นชมว่า มูราตอฟคือสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างมุมานะตามอุดมการณ์ของเขา และทุ่มเทให้กับมัน เขาเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ และความกล้าหาญ
คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพระบุในแถลงการณ์ว่า "การทำข่าวอย่างเสรี เป็นอิสระ และตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง จะช่วยป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ คำโกหก และการโฆษณาชวนเชื่อ" และ “เมื่อปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็จะเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติ การลดอาวุธ และความสงบเรียบร้อยที่จะส่งต่อในยุคสมัยของเรา"
ทั้งนี้ การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะมีขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบล
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลจะทำการพิจารณาในช่วงกลางเดือนต.ค.ว่าจะมีการจัดพิธีมอบรางวัลดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์หรือไม่ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว (2563) คือ โครงการอาหารโลก (WFP) ของสหประชาชาติ จากผลงานโดดเด่นด้านความเพียรพยายามขจัดความหิวโหยทั่วโลก