สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association: TJA) ออก แถลงการณ์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ประณามการจับกุมนักข่าว และ คุกคามสื่อมวลชนในเมียนมา โดยเนื้อหาระบุว่า
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอประณามการจับกุมผู้สื่อข่าวและการคุกคามสื่อมวลชนในประเทศเมียนมาร์ และขอเรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมทุกคนได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็ว
เสรีภาพสื่อเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคม ดังนั้น การแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาร์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ปรากฏว่ามีผู้สื่อข่าวหลายคนถูกจับกุมและตกเป็นเป้าดำเนินคดีทางกฎหมายจากทางการ ท่ามกลางสถานการณ์ความปั่นป่วนทางการเมืองในเมียนมาร์
ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค.จากกลุ่ม “Detained Journalists Information Myanmar” ซึ่งดำเนินการโดยผู้สื่อข่าวและนักเขียนในเมียนมาร์ ระบุว่า มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 43 คนถูกจับกุมหรือตกเป็นเป้าดำเนินคดีทางกฎหมาย ในจำนวนนี้ บางคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังมีผู้สื่อข่าวอีกหลายคนที่ยังถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ทางการเมียนมาร์ไม่ได้เปิดเผย และยังไม่สามารถทราบชะตากรรมของผู้ถูกจับกุม
ในขณะเดียวกัน กองทัพเมียนมาร์ได้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชนจำนวน 5 สำนักข่าวด้วยกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีการจับกุมตัวนักข่าวชาวเมียนมาร์จำนวน 2 คน ได้แก่ Aung Thura ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว BBC และ Than Htike Aung ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Mizzima ซึ่งได้ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาร์สั่งเพิกถอนใบอนุญาตในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ข้อมูลจากสำนักข่าว Myanmar Now ระบุว่า Aung Thura ถูกควบคุมตัวจากกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารนอกเครื่องแบบ ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่บังคับสอบสวนเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนติดต่อกันในสภาพอดนอนและอิดโรย
สำนักข่าว BBC รายงานว่า Aung Thura ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 มี.ค. แต่ Than Htike Aung ยังถูกควบคุมตัวอยู่ เช่นเดียวกันนักข่าวเมียนมาอีกจำนวนมาก
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอย้ำว่าสมาคมฯสนับสนุนหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อมวลชน นอกจากนี้ สมาคมฯยังขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในประเทศเมียนมาร์ใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และแสวงหาการแก้ไขปัญหาภายใต้แนวทางสันติวิธี ผ่านการพูดคุยอย่างสมานฉันท์และสร้างสรรค์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SEAPC-Net ออกแถลงการณ์สนับสนุน "เสรีภาพสื่อ" ในเมียนมา
สหรัฐ-ญี่ปุ่นร่วมอีก 10 ประเทศประณามกองทัพเมียนมากระทำรุนแรงผู้ชุมนุม
KNU รุกหนัก ยึดฐานทหารเมียนมาได้อีกรวม 2 ฐาน
เอกชนไทยลงทุนเมียนมาร้องรัฐช่วยอุ้ม ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มขาดสภาพคล่อง