รัฐบาลสหรัฐ ประกาศ ยกเลิกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าสหรัฐ แล้วเมื่อวันศุกร์ (15 ต.ค.) หลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกคำสั่งดังกล่าวในปีที่แล้ว (2563) เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19
ทำเนียบขาวแถลงว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบโดสแล้ว และมีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบภายในระยะ 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง จะสามารถเดินทางเข้าสู่สหรัฐนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. ครอบคลุมทั้งการเดินทางทางอากาศและทางบก ส่วนชาวต่างชาติที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจะยังคงถูกห้ามเข้าสหรัฐ ขณะที่ชาวอเมริกันเองที่ประสงค์เดินทางกลับเข้าประเทศ หากยังไม่ได้รับวัคซีน ก็จะต้องแสดงหลักฐานว่าตรวจหาเชื้อโควิดแล้วและผลตรวจเป็นลบ (ไม่พบการติดเชื้อ)
คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของสหรัฐ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สหรัฐเริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางครั้งแรกต่อผู้ที่เดินทางมาจากจีนเมื่อเดือนม.ค.2563 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากนั้น สหรัฐก็ได้เพิ่มรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐเรื่อยมาซึ่งรวมถึงหลายประเทศในยุโรป และบราซิล จนกระทั่งล่าสุดในเดือนพ.ค. สหรัฐได้ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางจากอินเดียเข้าประเทศ
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งระบุว่า รายละเอียดอื่น ๆที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ อาทิ ข้อยกเว้น , รายชื่อวัคซีนต้านโควิดที่สหรัฐยอมรับ และรายละเอียดอื่น ๆในเชิงปฏิบัติ จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะก่อนวันที่ 8 พ.ย.2564
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) ได้แจ้งข้อมูลแก่บรรดาสายการบินต่าง ๆแล้วว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐให้การรับรองและอนุมัติใช้แล้ว รวมทั้งวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติแล้วให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing หรือ EUL) จะเป็นวัคซีนที่สหรัฐให้การยอมรับสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสหรัฐทางอากาศ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า , ซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ไม่ได้ใช้ในสหรัฐ ก็สามารถเดินทางเข้าสหรัฐภายใต้นโยบายเปิดประเทศครั้งนี้
ข้อมูลอ้างอิง