สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ที่ดำเนินมาระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย. 2564 มีมติจากการประชุมเมื่อวันอังคาร (2 พ.ย.) ว่า ขณะนี้ 124 ประเทศ ซึ่งมีป่ารวมกันมากกว่าร้อยละ 85 ของทั้งโลก เช่น แคนาดา รัสเซีย บราซิล โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันยุติการทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ที่ถูกทำลายภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573
ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากป่าไม้ที่ถูกทำลายจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก
ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า นี่คือการตกลงครั้งสำคัญในการปกป้องและอนุรักษ์ป่าบนโลกของเรา พร้อมตอกย้ำถึงความสำคัญของป่าที่เปรียบเสมือนปอดของโลก ว่าเป็นแหล่งสนับสนุนวิถีชีวิตของชุมชน เป็นแหล่งอาหาร และดูดซับก๊าซคาร์บอนที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในชั้นบรรยากาศ ป่าจึงมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และการอยู่รอดของมนุษยชาติ ดังนั้น ความตกลงที่เกิดขึ้นบนเวที COP26 ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่มนุษย์จะได้ยุติบทบาทการเป็นผู้ยึดครองและทำลายธรรมชาติ และเปลี่ยนมาเป็นผู้พิทักษ์และปกป้องแทน
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประกาศให้ความสนับสนุนมติครั้งนี้ว่า บรรดาผู้นำโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจังเช่นเดียวกับการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
“สหรัฐอเมริกาจะแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างในประเทศของเราเอง” ไบเดนกล่าว และยังยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆนี้ เขาได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ผืนดิน
รายงานข่าวระบุว่า มี 12 ประเทศที่ให้คำมั่นจะให้ความสนับสนุนทางการเงินรวม 8,750 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนเพื่อการนี้ในส่วนของภาคเอกชนด้วยในวงเงิน 5,300 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 7,200 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับซีอีโอของสถาบันการเงินมากกว่า 12 ราย รวมทั้งบริษัทเอวิวา (Aviva) ชโรเดอร์ (Schroders) และแอกซ่า (Axa) ได้รับปากจะยุติการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
ความสำคัญของการตกลงครั้งนี้ ซึ่งเป็นมติที่ชัดเจนและเป็นชิ้นเป็นอันที่สุดบนเวที COP26 คือการเป็นพันธะสัญญาที่ตกลงกันได้ในระดับผู้นำรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาวะอากาศของโลก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในการประชุม G20 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีเมื่อวันที่ 30-31 ต.ค.ก็ไม่มีมติหรือความคืบหน้าใด ๆในประเด็นการร่วมมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะในเรื่องการยุติการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ก็ยังหาจุดจบไม่ได้
นอกจากนี้ การตกลงตั้งเป้าหมายยุติการตัดไม้ทำลายป่าครั้งนี้ ยังให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางและวิธีในการปกป้องพิทักษ์ป่า
เทอริส เยเกอร์ เลขาธิการมูลนิธิ Rainforest Foundation Norway ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ป่าในประเทศนอร์เวย์ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีเกี่ยวกับข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าของบรรดาผู้นำประเทศในครั้งนี้ โดยระบุว่า นี่คือความตกลงที่มีการให้เงินสนับสนุนกองทุนด้านการอนุรักษ์ป่าก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และนับว่าเป็นความสนับสนุนที่มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการอนุรักษ์ผืนป่าของโลก แต่เขาเห็นว่า เงินทุนที่เข้ามาจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มากขึ้น แต่นั่นหมายถึงการมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย และเงินสนับสนุนควรใช้กับประเทศที่แสดงผลให้เป็นที่ประจักษ์ว่าได้มีการอนุรักษ์ป่าอย่างจริงจังเท่านั้น รวมทั้งการอนุรักษ์ป่าอย่างให้ความสำคัญ ให้ความเคารพในสิทธิของชาวพื้นเมือง คนท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่นั้นๆด้วย
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มและเช็กรายชื่อ 124 ประเทศที่ลงนาม คลิกที่นี่