สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ราคาหุ้นของ บริษัท ริเวียน ออโตโมทีฟ ผู้ผลิต รถกระบะไฟฟ้า "ริเวียน" (Rivian) ทะยานขึ้นสูงสุดถึง 53% ในการเทรดวันแรกในตลาด Nasdaq ภายใต้ชื่อ “RIVN” เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 พ.ย.) ก่อนที่จะปรับลดลงมาเล็กน้อยและมีราคาปิดตลาดที่ 100.73 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาเปิดตลาด 30%
ริเวียนทำมูลค่าตลาดทะยานขึ้นสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงเป็นอันดับสองในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นรองเพียงบริษัทเทสลา (Tesla) ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.06 ล้านล้านดอลลาร์
รอยเตอร์รายงานว่า ดีล IPO ของริเวียนคือดีลที่ใหญ่สุดในโลกแห่งปี 2021 และถือเป็นการระดมทุน IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐ นับตั้งแต่ที่อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซเคยทำไว้ในปี 2014
ดีล IPO ของริเวียนครั้งนี้ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 3.2 ล้านล้านบาท
สถิติน่ารู้เกี่ยวกับ “ริเวียน”
"ริเวียน" ได้กลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกทันทีถึงแม้จะยังไม่สามารถส่งมอบรถได้เลยซักคันเดียว ข่าวระบุว่า บริษัทเพิ่งผลิตรถได้ 156 คัน และเกือบทั้งหมดส่งมอบให้ลูกค้าที่ล้วนเป็นพนักงานของบริษัทเอง ทั้งนี้ โดยการเป็นอันดับ 5 ของริเวียนนั้น (จัดอันดับตามมูลค่ามาร์เก็ตแคปของบริษัท) 4 อันดับที่เหนือกว่า ได้แก่
ริเวียนเป็นสตาร์ทอัพ ที่มีอายุกิจการเพียง 12 ปี แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ที่มีมาร์เก็ตแคป หรือมูลค่าตามราคาตลาด ใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าบริษัทรถยนต์ระดับตำนานอย่างจีเอ็ม (GM) และฟอร์ด (Ford) ที่ก่อตั้งและจำหน่ายรถยนต์มาเกินกว่า 100 ปีแล้ว
เรามาเทียบกันชัด ๆ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของริเวียน ดังนี้
นักวิเคราะห์ยังเปรียบเทียบให้เห็นความแรงของธุรกิจน้องใหม่อย่างริเวียน นั่นคือ ในวันที่เทสลาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเหมือนอย่างที่ริเวียนเป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือปีที่ผ่านมา (2020)ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เทสลาสามารถผลิตและส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าได้ที่ 500,000 คันต่อปี
หันมาดูริเวียน บริษัทวางแผนจะผลิตรถยนต์ให้ได้ในหลักหมื่นคันในปีหน้า (2022) และตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 100,000 คันภายในปี 2024 ก่อนที่จะพยายามขยายกำลังการผลิตให้ได้ 1 ล้านคันภายในปี 2030 นั่นหมายถึงแผนการในระยะ 10 ปี ส่วนเทสลาเดินทางมาถึงจุดดังกล่าวในปีนี้ (2021) หลังจากที่ก่อตั้งบริษัทมาเป็นเวลา 17 ปี
เมื่อโลกของเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ สิ่งที่เราได้เห็นกันก็คือ บริษัทรถยนต์ที่แม้จะมีอายุก่อตั้งน้อยกว่าแต่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่น่าดึงดูดใจในสายตาผู้คนเช่นกรณีของเทสลา (Tesla) จึงกลายเป็นตัวอย่างของบริษัทที่มาใหม่ แต่กลับมีมูลค่ากิจการมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่ากิจการของบริษัทรถยนต์ 10 อันดับแรกของโลกรวมกัน
ริเวียนเองก็เป็นน้องใหม่ที่มาแรงตามรอยเดียวกันนั้น (แต่ตอนนี้มาร์เก็ตแคปของริเวียนยังน้อยกว่าเทสลาราว 10 เท่า) เรามาทำความรู้จัก “ริเวียน” ให้มากขึ้นว่าเพราะอะไรถึงได้เร้าใจนักลงทุนได้ขนาดนี้
Rivian (ริเวียน) ก่อตั้งในปี 2009 โดย Robert “RJ” Scaringe (ชื่อย่อ R.J. Scaringe) หนุ่มอเมริกันวัย 38 ปีในปัจุบัน เขาเป็นผู้ก่อตั้งริเวียนขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี โรเบิร์ตจบการศึกษาระดับปริญญาเอก (สาขาวิศวกรรมเครื่องกล) จากสถาบัน Sloan Automotive Lab ของ MIT สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
ตอนแรกโรเบิร์ตไม่ได้คิดจะผลิตรถกระบะอีวี ใจเขาอยากทำรถสปอร์ตไฟฟ้ามากกว่า แต่เพราะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบกระบะยังไม่มีผู้เล่นในตลาด เพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล เขาจึงเบนเข็มมาพัฒนารถกระบะและรถ SUV ไฟฟ้าแทน
นั่นจึงเป็นที่มา ทำให้จุดเด่นและความโด่งดังของริเวียนมาจากการผลิตรถกระบะไฟฟ้า (EV trucks) คนในวงการบอกว่าถ้าเทียบกันหมัดต่อหมัดในเรื่องรถกระบะไฟฟ้า ริเวียนแซงหน้าเทสลาไปแล้วในแง่การผลิต รถกระบะไฟฟ้ารุ่นยอดนิยมของแบรนด์นี้ คือรุ่น “R1T” นอกจากนี้ ยังมีรถอเนกประสงค์(SUV)ไฟฟ้าในชื่อรุ่น “R1S”
เทคโนโลยีที่โดดเด่นของ “ริเวียน”
สิ่งที่ทำให้ริเวียนพิเศษกว่าแบรนด์อื่น คือ ‘Skateboard Platform’ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาโครงช่วงล่างของรถยนต์ ที่บริษัทสร้างเพื่อให้โครงสร้างของรถมีศูนย์ถ่วงที่ต่ำ และนำมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงควบคุมต่าง ๆ ติดตั้งไว้ด้านล่างของตัวรถ ทำให้การขับขี่สนุก และเหมาะกับการขับเคลื่อนสี่ล้อ เหมาะกับรถยนต์ประเภท Off-Road อย่างรถกระบะและ SUV นอกจากนี้ ยังทำให้การออกแบบทำได้อิสระมากขึ้น
โดย Skateboard Platform ของริเวียน มีความโดดเด่นดังนี้
แนวคิดดี นักลงทุนพร้อมร่วมสนับสนุน
ด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้ริเวียน สามารถระดมทุนจากบริษัทใหญ่ ๆ ได้มากมาย โดยเบื้องต้นได้เงินทุน 450 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ Abdul Latif Jameel ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย ตามมาด้วย Sumitomo Corp จากญี่ปุ่น และธนาคาร Standard Chartered จากอังกฤษ
ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ก่อนหน้าที่จะนำเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น ริเวียนระดมทุนไปได้มากถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ และถ้านับย้อนไปจนถึงปี 2019 รวมแล้ว ริเวียนได้รับเงินจากการระดมทุนไปมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว
ถ้าไปเปิดดูรายชื่อนักลงทุนในหลายช่วงเวลา จะพบว่ามีบริษัทรายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ตกลงปลงใจลงเงินเดิมพันในริเวียน และหนึ่งในนั้นคือ แอมะซอน บริษัทเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก T. Rowe Price และ BlackRock บริษัทด้านการลงทุนชั้นนำของโลก และแม้กระทั่ง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ด้วยกันอย่างฟอร์ด ก็ยังลงทุนในริเวียนด้วยเหมือนกัน
สำหรับราคาเริ่มต้นรถกระบะไฟฟ้าของริเวียนนั้น รุ่น R1T ตั้งราคาไว้ที่ 69,000 ดอลลาร์ ( ประมาณ 2,110,050 บาท) และรถ SUV ไฟฟ้ารุ่น R1S ราคา 72,500 ดอลลาร์ ( ราว ๆ 2,188,200 บาท)
ข้อมูลอ้างอิง
EV start-up Rivian is valued at $86 billion after market debut, higher than Ford
Rivian I.P.O. Is Embraced by Investors Looking for Another Tesla