ราหูอมจันทร์คืนเพ็ญเดือน 12 “นานสุด” ในรอบ 580 ปี

18 พ.ย. 2564 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 19:30 น.

จันทรุปราคาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของไทย เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วน หรือ partial lunar eclipse แต่ถ้าเรียกแบบไทยๆ ว่า “ราหูอมจันทร์” ก็มีส่วนที่เงาโลกบังดวงจันทร์อยู่มากกว่า 90% ที่สำคัญคือเป็นการอมจันทร์ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 6 ชั่วโมง

เว็บไซต์ของ earthsky.org รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ย.นี้ ชาวโลกจะได้เห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วน โดยในทวีปอเมริกาเหนือจะเห็นในช่วงดึกของวันพฤหัสฯที่ 18 พ.ย.ข้ามไปช่วงเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งก็จะตรงกับเวลาเย็น-กลางคืนของวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. ในทวีปเอเชีย หรือคืนวันเพ็ญลอยกระทงของไทยนั่นเอง

 

แม้นี้จะไม่ใช่ปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา” หรือ “จันทรคราส” ครั้งแรกของปี 2564 เพราะก่อนหน้านี้ก็มีมาแล้ว เช่นในเดือนพ.ค.ช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ในวันที่ 18-19 พ.ย. จะเป็นครั้งที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะนี่คือปรากฎการณ์ราหูอมจันทร์ที่จะกินระยะเวลานานที่สุดในรอบ 580 ปี โดยทั้งกระบวนการจะกินเวลามากกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งในช่วงที่เงาโลกบังดวงจันทร์มากที่สุดนั้น จะเห็นดวงจันทร์เหลือเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ทางมุมล่างซ้าย โดยนาซ่า หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า ดวงจันทร์จะถูกเงาโลกบังถึง 99.1% ขณะที่หอดูดาวกริฟฟิท (Griffith Observatory) ในลอสแองเจลิส ระบุเงาโลกบังดวงจันทร์ 97%

 

นักดาราศาสตร์ระบุ ดวงจันทร์จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 28 นาทีกับอีก 24 วินาทีเคลื่อนตัวผ่านเงามืดช่วงที่ลึกที่สุดของโลก ทำให้ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาที่กินระยะเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1441 หรือนานที่สุดในศตวรรษนี้ ชาวโลกจะได้เห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง ที่เรียกว่า blood moon (จันทร์สีเลือด) ซึ่งเกิดจากการกระเจิงแสงของแสงสีน้ำเงินและแสงสีแดง ผ่านฝุ่นละอองในอวกาศ ขณะที่แสงสีน้ำเงินกระเจิงหายไป และแสงสีแดงไปตกกระทบที่ดวงจันทร์ตอนที่เข้าไปในเงามืด ก็จะทำให้ดวงจันทร์ดูเป็นสีแดง ยิ่งมีละอองฝุ่นมาก ก็ยิ่งทำให้ดวงจันทร์เป็นสีแดงมาก ซึ่งไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก เพราะเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

ราหูอมจันทร์คืนเพ็ญเดือน 12 “นานสุด” ในรอบ 580 ปี

ทั้งนี้ ซีกโลกที่จะได้เห็นเงาโลกบังดวงจันทร์เกือบเต็มดวงในวันที่ 18 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น คืออเมริกาเหนือ รวมทั้งฮาวาย บางส่วนของรัสเซีย และอเมริกาใต้ ส่วนแถบที่จะได้เห็นในคืนวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ที่จะได้เห็นปรากฏการณ์นี้ราว 15.36-16.36 น. ถือเป็นจันทรุปราคาครั้งสุดท้ายของปีนี้

   

แถมท้ายด้วยคติทางโหราศาสตร์ มีความเชื่อว่า จันทรคราส มักนำพาภัยพิบัติ หรือเหตุรุนแรงให้เกิดขึ้น ให้งดเว้นกาลมงคล  และในทางโหราศาสตร์เช่นกัน โหรหลายท่านให้ความเห็นว่า สุริยคราส และจันทรคราส ไม่ได้เกิดผลไม่ดีกับทุกคน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลานั้น คนที่อยู่ในราศีใดพึงระวัง

ราหูอมจันทร์คืนเพ็ญเดือน 12 “นานสุด” ในรอบ 580 ปี

สำหรับคนที่ควรระวังในการเกิดจันทรคราสครั้งนี้คือ บุคคลที่เกิดในราศีพฤษภ และพิจิก เข้าข่ายที่จะได้รับผลกระทบ โดยควรระวังเรื่องอุบัติเหตุ ปัญหาสุขภาพ ปรากฎการณ์ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างสั้นเพียงแต่ต้องมีความระมัดระวังอย่าทำอะไรที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ถ้าไม่สบายใจให้สวดมนต์ ไหว้พระหรือทำบุญ

 

ข้อมูลอ้างอิง