คณะที่ปรึกษาทางเทคนิกด้านวิวัฒนาการเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประชุมนัดพิเศษเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.529. ซึ่งมีรายงานการค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา
หลักฐานเบื้องต้นชี้ว่า ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายในทางระบาดวิทยา ทางคณะที่ปรึกษาฯ แนะนำ WHO ว่า ไวรัส B.1.1.529 ควรได้รับการประกาศให้เป็น เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ “น่ากังวล” (Variant of Concern หรือ VOC) ทั้งนี้ WHO จึงได้ประกาศให้ B.1.1.529 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล และตั้งชื่อใหม่ว่า “โอไมครอน” (Omicron)
นอกจากนี้ WHO ยังพบว่า ไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อเป็นครั้งที่สอง หลักฐานเบื้องต้น (preliminary evidence) ยังชี้ว่า มันอาจแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยขณะนี้เห็นได้ว่า ไวรัสดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
WHO ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆให้ความสนใจตรวจสอบกรณีพบผู้ติดเชื้อใหม่ว่าพบ “โอไมครอน” บ้างหรือไม่เพราะต้องการข้อมูลว่าเจ้าไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้แพร่ระบาดไปในประเทศใดแล้วบ้าง นอกจากบอตสวานา แอฟริกาใต้ และฮ่องกง ดังที่มีรายงานข่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.)
ทั้งนี้ “โอไมครอน” เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่ WHO จัดให้เป็นเชื้อที่น่ากังวล หรือ VOC ก่อนหน้านี้ มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา
ดร.มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ของ WHO กล่าวเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.)ว่า การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ “โอไมครอน” นี้ มีลักษณะที่น่าเป็นห่วงบางประการ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในแอฟริกาใต้และในประเทศอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและระบุลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ของการแพร่กระจาย ความรุนแรง และผลกระทบ เพื่อหามาตรการต่าง ๆ ในการรับมือ ซึ่งรวมถึงการรักษา และวัคซีนป้องกัน แต่จนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ตัวนี้
อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า ระบบตรวจสอบหาเชื้อที่ใช้กันทั่วโลกในขณะนี้ ยังคงสามารถตรวจจับสายพันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว ในขั้นนี้ WHO แนะนำว่า มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดสัมผัส การสวมหน้ากากอนามัย และการรับวัคซีน ยังคงเป็น “สิ่งสำคัญที่สุด” ในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19
ทำไม “โอไมครอน” ถึงน่ากังวล
นักวิทยาศาสตร์พบว่า โอไมครอน หรือที่เดิมรู้จักในชื่อ B.1.1.529 นั้น มีการกลายพันธุ์ประมาณ 50 ตำแหน่ง รวมถึง 32 ตำแหน่งในส่วนของหนามโปรตีน (spike protein) ที่มันใช้เกาะจับกับเซลล์ร่างกายของคนเรา การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วของไวรัสนั้น ส่วนมากไม่ทำให้มันมีการกระจายตัวที่แตกต่างออกไป แต่ในบางกรณี การกลายพันธุ์ของมันก็อาจจะทำให้ไวรัสนั้นแพร่กระจายได้ไวขึ้น และบางครั้งก็ทำให้มันหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดีขึ้น หรือดื้อวัคซีนได้มากขึ้น
สำหรับการกลายพันธุ์ของ “โอไมครอน” นั้น บางตำแหน่งก็ไม่เคยพบเจอมาก่อน บางตำแหน่งก็เคยตรวจพบมาแล้วในสายพันธุ์ก่อน ๆ ซึ่งการกลายพันธุ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ไวรัสกระจายตัวได้ไวขึ้น ง่ายขึ้น หรือสามารถฝ่าด่านภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้
WHO จัดประเภทให้ไวรัสบางสายพันธุ์อยู่ในกลุ่มที่ “น่ากังวล” หรือ Variant of Concern (VOC) ก็ต่อเมื่อไวรัสนั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อหรือแพร่กระจายได้ไวขึ้น ทำให้มีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ประสิทธิภาพของมาตรการสาธารณสุขลดลง หรือทำให้ประสิทธิภาพของการตรวจ การรักษา และประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
ยังมีโผล่ใหม่ที่ประเทศไหนอีกบ้าง
สองประเทศกับหนึ่งดินแดนแรกที่ตรวจพบ B.1.1.529 หรือ “โอไมครอน นั้น คือ บอตสวานา แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ล่าสุด จนถึงวันนี้ (27 พ.ย.) มีการตรวจพบการติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มในนักเดินทางที่ไปเยือนประเทศเบลเยี่ยม และอิสราเอล
ข้อมูลอ้างอิง