สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวระบุ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือ “โอเปกพลัส” ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางเทคนิคจากวันจันทร์ที่ 29 พ.ย. เป็นวันพุธที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อประเมินผลกระทบที่ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” มีต่อราคาและความต้องการน้ำมัน ส่วนกลุ่มโอเปกจะจัดการประชุมในวันพุธเช่นกัน
นอกจากนี้ การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลระดับรัฐมนตรีของโอเปกพลัส ยังเลื่อนจากวันอังคารที่ 30 พ.ย. เป็นวันพฤหัสบดีที่ 2 ธ.ค. ด้วย โดยชาติสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสจะจัดการประชุมนโยบายในวันพฤหัสบดีด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศนโยบายการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งนี้
แหล่งข่าวจากกลุ่มโอเปกพลัส เปิดเผยว่า โอเปกพลัสจำเป็นต้องประเมินผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนก่อน เพื่อดูว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด โอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะพยายามกดดันให้ชาติสมาชิกโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
"การที่รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และผู้ผลิตน้ำมันอีกหลายประเทศปฏิเสธที่จะเพิ่มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมีน้ำมันใช้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง" ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวในการประชุม G20
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันของสหรัฐ โอเปกพลัสยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันอาจทรุดตัวลงได้อีก ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ
นอกเหนือจากโอเปกพลัสแล้ว องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ หรือ World Trade Organization: WTO) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อนหน้านี้ ได้ประกาศเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีออกไปเช่นกัน เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า WTO ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีออกไป จากเดิมที่มีกำหนดเปิดฉากการประชุมในวันอังคารนี้ (30 พ.ย.) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ รวมถึงวิธีการควบคุมข้อจำกัดด้านการส่งออกสินค้าทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีแบบพบหน้ากันจริง ๆ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ปี
อย่างไรก็ตาม นายดาซิโอ คาสทิลโล ประธานคณะมนตรีดับเบิลยูทีโอ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่น่ากังวลและความไม่แน่นอนกรณีการพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์โอไมครอนในแอฟริกาใต้ ที่ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ WTO) สั่งระงับการเดินทางจากภูมิภาคแอฟริกา ก็ทำให้ WTO ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน แต่จะจัดการประชุมครั้งใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวย
WTO ระบุเพิ่มเติมว่า สมาชิกเห็นพ้องต้องกันเมื่อวันศุกร์ (26 พ.ย.) ที่จะเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีออกไปก่อน หลังจากการระบาดของสายพันธุ์ใหม่นำไปสู่ข้อจำกัดการเดินทาง ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้กำหนดการวันประชุมครั้งใหม่
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (24 พ.ย.) สวิตเซอร์แลนด์ ได้สั่งห้ามเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาใต้และพื้นที่โดยรอบ และกำหนดมาตรการในการตรวจหาเชื้อและกักกันการเดินทางจากประเทศอื่นๆ รวมถึงเบลเยียม ฮ่องกง และอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศและดินแดนที่มีการยืนยันตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด “โอไมครอน”
คาดว่าข้อจำกัดใหม่จะทำให้ผู้แทนจากแอฟริกาใต้ และคณะกรรมาธิการยุโรปที่มีฐานอยู่ในบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม จะถูกจำกัดให้แสดงตัวแบบเสมือนจริงเป็นส่วนใหญ่