นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกผลการศึกษาฉบับล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการค้าโลก พบว่า ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ประเทศสมาชิกได้ใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว 384 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 248 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 291,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการจำกัดการค้า 136 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 205,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้ เป็นมาตรการจำกัดการส่งออก ถึง 114 มาตรการ ถือเป็นปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนและสินค้าสำคัญทางการแพทย์อื่น ๆ
สำหรับมาตรการทางการค้าที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ระหว่างเดือนต.ค.2563 ถึงพ.ค.2564 พบว่า ประเทศสมาชิกมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 61 มาตรการ ต่ำกว่าจำนวนมาตรการจำกัดการค้าที่ 70 มาตรการ แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าความครอบคลุมทางการค้า มาตรการอำนวยความสะดวกทางการมีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 445,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มาตรการจำกัดทางการค้ามีมูลค่าทางการค้าเพียง 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงว่าแม้สมาชิกจะใช้มาตรการจำกัดการค้า แต่ก็มีการออกมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ครอบคลุมมูลค่าการค้าที่สูงกว่า
ส่วนมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าที่ประเทศสมาชิกประกาศเริ่มไต่สวนระหว่างเดือนต.ค.2563 ถึง พ.ค.2564 มีจำนวนต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2555 โดยมีค่าเฉลี่ยการเริ่มไต่ส่วนต่อเดือนที่ 19.1 เคสต่อเดือน
ปัจจุบันการขยายการผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ยังคงมีปัญหาคอขวดสำคัญหลายประการ โดยยังมีการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนและวัตถุดิบ รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากรที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อวัตถุดิบวัคซีนบางชนิด เช่น บางประเทศไม่อนุญาตให้วัตถุดิบในการผลิตวัคซีนผ่าน green channel หรือตัวอย่างวัคซีนที่ถูกส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเสมือนเป็นสินค้าทั่วไป , การขึ้นทะเบียนยา การขออนุญาตจำหน่าย การตรวจปล่อย กระบวนการ Post-approval changes รวมทั้งขั้นตอนการขยายการผลิตใช้เวลายาวนาน เปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่สอดคล้องกันระหว่างประเทศ และมี ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ในการขนย้ายวัคซีนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขาดเข็มฉีดยา และห้องเย็น เป็นต้น ทำให้การผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ส่งผลต่อเนื่องไปยังการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ WTO เห็นว่าการทบทวนพิจารณาเพื่อลดอัตราอากรของสินค้าข้างต้น รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาคอขวด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมการฟื้นตัวของการค้าโลกในระยะต่อไป โดยคาดว่า การค้าโลกในปี 2564 จะขยายตัว 10.8% และเพิ่ม 4.7% ในปี 2565 แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องวัคซีนประกอบด้วย
ปัจจุบัน อากรนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัตซีนโควิด-19 ของประเทศผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งไทย ยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็น ยังคงถูกเก็บอากรนำเข้าในระดับที่สูง ใน 23 ประเทศ จากทั้งหมด 27 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนที่โควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่าน (11.9%) คิวบา (10.3) อาร์เจนตินา (9.6%) คาซัคสถาน (8.9%) และอินเดีย (8.5%) โดยไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.4% สูงเป็นอันดับที่ 7 ในบรรดา 27 ประเทศผู้ผลิตวัคซีน ส่วนสินค้าปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสูง รวมทั้งมีสัดส่วนในการนำเข้าสูง ได้แก่ ถุงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ อุปกรณ์การผลิตวัคซีน และสารวัตถุดิบสำหรับวัคซีน และไทยยังเก็บภาษีซูโครสบริสุทธิ์ในรูปของแข็ง ซึ่งถือเป็น inactive ingredient ของการผลิตวัคซีนโควิด-19 สูงถึง 94% รองเพียงแค่อินเดียที่เก็บอากรนำเข้าสินค้าชนิดนี้ที่ 100%