สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเจาะลึกเกี่ยวกับที่มาและความคืบหน้าล่าสุดของ “โอไมครอน” (Omicron) ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอยู่ในกลุ่ม สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Conecern: VOC) เป็นลำดับที่ 5 ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ว่านี่อาจเป็น “ปัจจัยป่วน” ที่ทำให้โลกต้องกลับมาตื่นตระหนกกับโควิด-19 อีกครั้ง
นักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ได้ตรวจพบไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน หรือ B.1.1.529 เป็นครั้งแรกในตัวอย่างที่เก็บได้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็พบผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากในแอฟริกาใต้เช่นกัน และในขณะนี้ได้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในหลายประเทศได้แก่ แอฟริกาใต้, บอตสวานา, เบลเยียม, ฮ่องกง, อิสราเอล, อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, สาธารณรัฐเช็ก, เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก, แคนาดา, สเปน, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
“โอไมครอน” โควิดพันธุ์ใหม่ที่โลกกังวล
WHO ระบุว่า ได้รับรายงานการพบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้ประกาศให้โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง โดยเฉพาะที่ตำแหน่งสไปค์โปรตีนซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างน้อย 32 ตำแหน่ง เทียบกับสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีนเพียง 9 ตำแหน่ง
WHO ได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้โอไมครอนเป็นโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงผิดปกติ และจากหลักฐานเบื้องต้นที่มีอยู่ในขณะนี้ พบความเสี่ยงที่อัตราการติดเชื้อจากโอไมครอนจะสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม WHO ระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ กว่าจะทราบถึงผลกระทบและความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้
ศาสตราจารย์ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์รับมือโรคระบาดและนวัตกรรมของแอฟริกาใต้กล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบมี “การกลายพันธุ์มากกว่าที่เราคาดไว้ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็วมาก และคาดว่าจะเห็นผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขภายในไม่กี่สัปดาห์”
นอกจากนี้ เขายังแสดงความกังวลว่า การกลายพันธุ์อาจส่งผลให้มีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ก็ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าการกลายพันธุ์จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ โดยยังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจถึงความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า
ดร.แองเจลีค โคทซี ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ และเป็นคนแรกที่ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า นับจนถึงขณะนี้พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนนั้นมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง
ดร.โคทซีกล่าวว่า เธอเริ่มสังเกตอาการของผู้ป่วยเมื่อประมาณวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่แทบไม่แตกต่างจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก
“ดิฉันเริ่มสังเกตอาการของผู้ป่วยชายรายหนึ่งอายุประมาณ 33 ปี ซึ่งผู้ป่วยรายนี้บอกดิฉันว่า เขามีอาการเหนื่อยมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และมีอาการปวดศีรษะและปวดตามร่างกาย แต่ผู้ป่วยรายนี้กลับไม่ได้เจ็บคอ และไม่มีอาการไอ รวมทั้งไม่ได้สูญเสียการรับรู้กลิ่นและรสซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้” ดร.โคทซีกล่าว
ทั่วโลกแห่ประกาศปิดพรมแดนสกัดโอไมครอน
หลายชาติรีบประกาศห้ามผู้เดินทางจากแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่าความพยายามดังกล่าวอาจจะสายเกินไปแล้ว โดย WHO แถลงว่า โอไมครอนมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า และผู้ที่เคยป่วยแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำ
สหรัฐเริ่มใช้มาตรการห้ามผู้เดินทางส่วนใหญ่จาก 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ได้แก่ แอฟริกาใต้, บอตสวานา, ซิมบับเว, นามิเบีย, เลโซโท, เอสวาตีนี, โมซัมบิก และมาลาวี โดยชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ในช่วง 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐ
แคนาดาประกาศปิดพรมแดนไม่รับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้เช่นกัน เช่นเดียวกับอังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู)
ประเทศอื่น ๆ ก็ได้เริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางแล้ว อาทิ สิงคโปร์, อินเดีย, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, ตุรกี, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศไทย
รัฐบาลญี่ปุ่นถึงกับประกาศห้ามชาวต่างชาติจากทุกประเทศทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโอไมครอน โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันอังคารที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป
ด้านนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO เรียกร้องให้นานาประเทศอย่าตื่นตระหนกจนทำให้มีการออกมาตรการป้องกันแบบเหวี่ยงแห ซึ่งเป็นการลงโทษชาติแอฟริกาอย่างไม่เป็นธรรม
ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการฉุกเฉินของ WHO ออกมาเตือนทุกประเทศว่า ไม่ควรจะรีบร้อนสั่งแบนเที่ยวบินจากแอฟริกาเพื่อสกัดโอไมครอน ขณะที่ริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในแอฟริกาใต้ก็ตำหนิมาตรการจำกัดการเดินทางที่ทั่วโลกนำมาใช้ โดยย้ำว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นในตอนนี้ก็คือ การเร่งกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ขาดแคลน
ส่วนเบน โคว์ลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสโอไมครอนอาจแพร่เชื้อเข้าไปยังหลายประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการสั่งปิดพรมแดนอาจจะสายเกินไปแล้วก็เป็นได้”
โอไมครอนทุบตลาดหุ้น-ราคาน้ำมันทรุด กูรูเตือนเศรษฐกิจขาลง
ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักนับตั้งแต่มีรายงานการตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในแอฟริกาใต้ โดยนักลงทุนกระหน่ำขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลว่า โอไมครอนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกระลอก หลังจากหลายประเทศแห่ประกาศปิดพรมแดนเพื่อสกัดการแพร่ระบาด เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โอไมครอนอาจระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา และอาจหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นล่าสุดเมื่อวานนี้ (30 พ.ย.) ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะกระทบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้
ด้านฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสเปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย โดยการคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น
นางเอเลนา ดักการ์ กรรมการผู้จัดการของมูดี้ส์เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน, เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เรทติ้งส์ระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะเราจะประเมินได้ทั้งหมดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมากเพียงใดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอน จนกว่าจะทราบถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดและอาการของโรค
วัคซีนที่มีอยู่ จะเอา “โอไมครอน” อยู่หรือไม่
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โอไมครอนเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลที่สุด เพราะพบการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามจำนวนมาก ทำให้อาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อต่างก็เตือนว่า โอไมครอนอาจส่งผลด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิดทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นายสเตฟาน บันเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัทโมเดอร์นา อิงค์เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์เมื่ออังคาร (30 พ.ย.) ว่า เขาคาดว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน พร้อมกับเตือนว่า บรรดาบริษัทเวชภัณฑ์อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างเพียงพอ
นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่เพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นการเฉพาะแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 100 วัน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า บริษัท บิออนเทค ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับไฟเซอร์ให้ความเห็นถึงการค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนว่า ทางบริษัทคาดว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอไมครอนในช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ และยืนยันว่า หากจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ ไฟเซอร์-ไบออนเทคก็พร้อมจะออกแบบวัคซีนตัวใหม่ได้ภายใน 6 สัปดาห์ และจะพร้อมส่งมอบวัคซีนล็อตแรกได้ภายใน 100 วัน
บริษัทพัฒนาวัคซีนอื่น ๆ ก็เตรียมพร้อมที่พัฒนาวัคซีนใหม่หากมีความจำเป็น เช่น โนวาแว็กซ์ ได้เริ่มพัฒนาวัคซีนสำหรับโอไมครอน ขณะที่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ระบุว่า กำลังติดตามโอไมครอนอย่างใกล้ชิด และกำลังทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้
ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยว่า กำลังติดตามตรวจสอบไวรัสโอไมครอน โดยแพลตฟอร์มวัคซีนของบริษัทที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดจะสามารถรับมือได้อย่างรวดเร็วกับไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่
“แอสตร้าเซนเนก้ากำลังทำการวิจัยในสถานที่ต่าง ๆ ที่ตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว อาทิ ในบอตสวานา และเอสวาตีนี” แอสตร้าฯระบุในแถลงการณ์
ด้าน ซิโนแวค ไบโอเทค เปิดเผยกับโกลบอล ไทมส์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า บริษัทกำลังติดตามไวรัสโอไมครอนอย่างใกล้ชิด และได้ติดต่อกับเครือข่ายหุ้นส่วนทั่วโลกเพื่อรวบรวมข้อมูล รวมถึงขอตัวอย่างเฉพาะของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้
ซิโนแวคระบุว่า จะทำการศึกษาผลกระทบของโอไมครอนกับวัคซีนที่มีอยู่ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนพิเศษเพื่อรับมือกับโอไมครอนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ ซิโนแวคยังเปิดเผยด้วยว่า บริษัทมีเทคโนโลยีที่เพียบพร้อมและมีกำลังการผลิตสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเร่งการพัฒนาและผลิตวัคซีนใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับโอไมครอน
นายจง หนานชาน นักระบาดวิทยาชั้นนำของจีนเตือนว่า โอไมครอนซึ่งเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้มากขึ้นนั้น อาจสร้างความท้าทายเพิ่มขึ้นให้กับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากโอไมครอนมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายจงแสดงความเห็นในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า การฉีดวัคซีนก็ยังเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสตัวใหม่นี้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐได้เพิ่มคำแนะนำเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ให้ผู้ใหญ่ทุกคนในสหรัฐควรฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่งถูกตรวจพบ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า “ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนโดสมาตรฐาน วัคซีนเข็มบูสเตอร์ และมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันไวรัสโควิด-19”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า การที่ไวรัสโอไมครอนมีการกลายพันธุ์ไปมากเมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีนนั้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ และหากโอไมครอนมีการแพร่ระบาดลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 4 นั้น เลวร้ายหนักขึ้น
WHO ระบุว่า ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะทราบรายละเอียดและเข้าใจลักษณะความรุนแรงของโอไมครอน รวมถึงไปถึงความชัดเจนที่ว่า วัคซีนที่มีอยู่จะใช้ได้ผลในการป้องกันไวรัสโอไมครอนหรือไม่
ดังนั้น ระหว่างที่ต้องรอข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับโอไมครอน รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น พวกเราก็คงต้องเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า อย่าการ์ดตกเป็นอันขาด โดยยังต้องเว้นระยะห่างกันต่อไป สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่พูดคุยกัน ล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดและสถานที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก