เปิดเหตุผลที่โควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนจะระบาดหนักกว่าเดลตา เช็กเลย!

01 ธ.ค. 2564 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 10:22 น.

เปิดเหตุผลที่โควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนจะระบาดหนักกว่าเดลตา หมออนุตรยกบทความมานพ พิทักษ์ภากรชี้การระบาด Gauteng มีอัตราเร่งกว่าเดลตาหลายเท่า

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยแนบความคิดเห็นของ มานพ พิทักษ์ภากร ซึ่งมีข้อความว่า 
ทำไมการดื้อภูมิคุ้มกันเพียงอย่างเดียวก็ทำให้ Omicron (โอไมครอน) แพร่เชื้อได้เหนือ Delta (เดลตา)?
โลกรู้จัก Omicron ได้ราว 1 สัปดาห์ แต่ข้อมูลที่เกี่ยวกับ variant นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวล และองค์การอนามัยโลก (WHO) ตัดสินใจให้เชื้อนี้เป็น VOC ตั้งแต่แรกแม้จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมันมากนัก
ข้อมูลแรกที่เรารู้เกี่ยวกับ Omicron คือการพบว่าเกิด wave ใหม่ขึ้นในเขต Gauteng (ที่ตั้งของเมือง Johannesburg และ Pretoria) ทั้งที่แอฟริกาใต้เพิ่งผ่านการระบาดของ Delta มาได้เพียง 3-4 เดือนที่แล้ว ใกล้เคียงกับประเทศไทย 

พร้อมกับการพบสายพันธุ์ใหม่ของ COVID ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักเหนือ Delta ได้ในเวลาเพียงครึ่งเดือน ด้วยอัตราเร่งนี้ คาดว่า Omicron ระบาดใน Gauteng ได้เก่งกว่า Delta หลายเท่า
ข้อมูลที่เราทราบเกี่ยวกับเชื้อในตอนนี้คือ Omicron สะสมการกลายพันธุ์จำนวนมาก และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน spike region ของ genome ซึ่งทำให้ลักษณะของ spike antigen ฉีกห่างจากเชื้อ VOC ตัวอื่นอย่างมาก ข้อมูลนี้แม้จะยังไม่เห็นผลการทดสอบจากแลป แต่พอจะคาดการณ์ได้ว่า Omicron น่าจะดื้อภูมิคุ้มกัน (immune evasion) มากพอสมควร เผลอ ๆ อาจจะมากกว่า Beta ที่รู้จักกันดีว่าดื้อมากด้วยซ้ำ

Omicron อาจทำให้เชื้อระบาดเหนือ Delta

ในขณะที่ความสามารถในการระบาดที่เกิดจากการแพร่ง่ายติดง่าย (transmissibility) นั้นยังไม่รู้ว่าจะเหนือกว่า Delta หรือไม่ เท่าที่เราทราบข้อมูลตำแหน่งของการกลายพันธุ์อื่นนอก spike ไม่เหมือน Delta ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าเชื้อนี้อาจไม่ได้แพร่ง่ายติดง่ายมากเท่า Delta ก็ได้ (แต่ยังไงก็ต้องรอดูผลการศึกษาในแลปยืนยันอีกที)

ทำไมการดื้อภูมิ (immune evasion) ของ Omicron อย่างเดียวก็อาจทำให้เชื้อนี้ระบาดเหนือ Delta ได้ เหตุผลสำคัญคือ การดื้อของเชื้อนี้อาจทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อ Delta มาก่อน หรือได้รับวัคซีนไประยะหนึ่งแล้ว มีระดับภูมิคุ้มกันไม่สูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เชื้อนี้มีอำนาจทะลุทะลวงภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ได้ การระบาดของ Delta ที่เพิ่งผ่านมา ผู้ติดเชื้อที่หายแล้วยังคงมีภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการติดเชื้อ Delta ซ้ำในระยะเวลาไม่นาน แต่อาจไม่สามารถป้องกัน Omicron ได้ เราจึงเห็นการระบาดของ Omicron ต่อจากการระบาดของ Delta ได้เลยในเวลาไม่นาน นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในแถบเมือง Manaus ประเทศบราซิลเมื่อปีก่อน ในช่วงที่เกิดสายพันธุ์ใหม่คือ Gamma (ชื่อเดิมคือ P.1) ซึ่งทำให้ COVID ระบาดซ้ำได้ทั้งที่ประชากรเกิน 75% เคยติดเชื้อสายพันธุ์ Wuhan ไปก่อนหน้านั้น (อ่านเพิ่มเติมที่นี่ https://www.facebook.com/manopsi/posts/10160617804518448) ในเวลาต่อมาจึงทราบว่า Gamma variant นั้นดื้อภูมิ (immune evasion) พอสมควร 
Immune evasion ของ Omicron จะมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอผลการศึกษาจาก Moderna และ Pfizer ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ในระหว่างนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่เราทุกคนทำได้คือ ฉีดวัคซีน ใครยังไม่ได้ฉีดรีบฉีดกัน ใครต้อง boost ขอให้ไป boost ตอนนี้วัคซีนที่มีล้วนแต่ประสิทธิภาพสูงทั้ง Pfizer และ Moderna ไม่ว่า Omicron จะดื้อมากน้อยแค่ไหน ใครมีภูมิสูงกว่าย่อมได้เปรียบ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 1 ธันวาคม 2564 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,886 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,091,895 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,326 ราย กำลังรักษา 74,190 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,998,328 ราย