“แพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์” ยาเม็ดที่ผู้ป่วยโควิดสามารถใช้เองที่บ้าน

24 ธ.ค. 2564 | 00:46 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 07:57 น.

สัปดาห์นี้ FDA สหรัฐได้อนุมัติยา “โมลนูพิราเวียร์” และ “แพกซ์โลวิด” เป็นยารักษาผู้ป่วยโควิดอย่างเป็นทางการแล้วตามความคาดหมาย นับเป็นการปลดล็อก ทำให้โลกมียารับประทานที่ผู้ป่วยโควิดสามารถใช้เองได้ที่บ้าน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อนุมัติ ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค เป็น ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้ววานนี้ (23 ธ.ค.) ซึ่งนับเป็นยาตัวที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดในสหรัฐ หลังจากที่ FDA เพิ่งอนุมัติ ยาแพกซ์โลวิด (paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ไปเมื่อวันก่อน (22 ธ.ค.)

 

รายงานระบุว่า ในการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงประมาณ 30% เมื่อทดลองให้ยาแก่ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

โมลนูพิราเวียร์

ทั้งนี้ FDA อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ให้เป็นยารับประทานสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโควิดแบบอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม FDA ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางหน่วยงานไม่อนุญาตให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อการเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน

 

การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์คมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันพุธ (22 ธ.ค.) FDA เพิ่งอนุมัติการใช้ยา” “แพกซ์โลวิด” ของบริษัทไฟเซอร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

แพกซ์โลวิด

โดยไฟเซอร์ระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้เกือบ 90% รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ มีขึ้นในขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วน 73% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาลดลงเหลือเพียง 27%

 

รายงานข่าวระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่ยารับประทานและยาที่ผู้ป่วยสามารถใช้เองได้ที่บ้านนั้น ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 และคาดว่ายาดังกล่าวอาจเป็นเครื่องมือใหม่ที่ใช้ในการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว