เมื่อเจ้าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้ไวขึ้นและมีแนวโน้มที่จะดื้อวัคซีนอย่าง “โอมิครอน” อุบัติขึ้นในแอฟริกาและโจมตียุโรปอย่างหนักโดยเริ่มบุกจากอังกฤษ ก่อนจะไปโผล่ที่อเมริกา กระทั่งขณะนี้ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย การประเมิน สถานการณ์เศรษฐกิจโลก จึงต้องปรับเปลี่ยนไป โดยเพิ่ม ปัจจัยความไม่แน่นอนระลอกใหม่ เข้ามา หลายประเทศที่ประกาศยกเลิก มาตรการล็อกดาวน์ ไปแล้ว ต้องหวนกลับมาคุมเข้มการเดินทาง เข้มงวดมาตรการสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เรียกร้องประชาชนเร่งเข้ารับการการฉีดวัคซีนรวมทั้งวัคซีนเข็มกระตุ้น ผลักดันโลกกลับเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง
ภาวะเศรษฐกิจปี 2565 จึงยังไม่คลี่คลายหรือสดใสมากนักอย่างที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ ปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ผสานกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆที่มีมาแต่เดิมจากปี 2564 ทั้งแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา ปัญหาฟองสบู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ของจีน ความขัดแย้งคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นจีนกับไต้หวันที่มีสหรัฐเป็นแบ็คอัพ หรือรัสเซียกับยูเครน ที่มีสหรัฐและนาโตคอยจับตาระแวดระวังอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจในยุโรปก็ยังมีปัญหาคาราคาซังที่เป็นผลพวงจากกรณีอังกฤษแยกตัวออกจากอียู (เบร็กซิท) และสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาอาหารโลกถีบตัวสูงขึ้น กระทั่งไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราเห็นได้ว่า หนทางเบื้องหน้าของเศรษฐกิจโลกในปี 65 นอกจากจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแล้ว ยังไม่สดใสสวยหรูอย่างที่คิด
“โอมิครอน” ตัวป่วนเศรษฐกิจโลก
นักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ อาจจะเร็วเกินไปที่จะชี้ขาดเกี่ยวกับผลกระทบของโอมิครอน ซึ่งดูเหมือนว่าจะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ทุกตัวที่ผ่านมารวมถึงเดลต้า แต่ทั้งนี้ ก็เป็นไปได้ว่า อาการเจ็บป่วยอาจไม่รุนแรงเท่าหรือรุนแรงมากไปกว่าตัวเดิม ๆ นอกจากนี้วัคซีนที่มีอยู่ก็ยังได้ผลในแง่ของการป้องกันการป่วยหนักจนถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล รวมทั้งการเสียชีวิต แต่ถึงกระนั้นโอมิครอนก็ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากนำกลับมาใช้อีก จะต้องเข้มงวดในระดับไหน
ส่วนหนึ่งมองว่ามาตรการในการยับยั้งโอมิครอนอาจจะไม่เข้มงวดเท่าที่ผ่านมา นั่นอาจหมายถึงโอกาสที่ผู้คนจะได้จับจ่ายใช้สอยในอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และการค้าปลีก ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นและขณะเดียวกัน คำเตือนและความกังวลว่าอาจมีการล็อกดาวน์ ก็อาจทำให้ลูกค้าในธุรกิจภาคบริการ เช่น ผับบาร์-ร้านอาหารลดลง แต่ผู้คนก็อาจเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมากขึ้นแทน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการล็อกดาวน์รอบใหม่ หรือการทำงานจากบ้าน (work from home : WFH) ที่ส่อเค้าจะขยายเวลาออกไปอีก
สำนักวิจัยบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ คาดหมายว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในปี 2565 จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่า อยู่ที่ 4.7% ปรับเพิ่มเป็น 5.1%
แต่ในทางกลับกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด “โอมิครอน” เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและลุกลามกว้างขวางจนก่อให้เกิดภาวะผู้ป่วย “ล้นโรงพยาบาล” และมีอัตราการตายเพิ่มมากขึ้น จนต้องประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดอีกครั้ง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษ และอีกหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา “โอมิครอน” ก็จะกลายเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ประมาณการณ์ว่า หากเกิดการล็อกดาวน์เข้มงวดอีกครั้งในปีนี้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา (2564) ในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน นั่นก็อาจมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงมาอยู่ที่ 4.2%ได้ในทันที จากการที่คาดว่าอุปสงค์จะอ่อนแอลง ขณะที่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานของโลกจะยืดเยื้อต่อไป และอาจหนักหนาสาหัสมากขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงงานยังคงเลือกที่จะไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ของโลกได้ในทันที เช่นกรณีที่จีนสั่งปิดเมืองหนิงป๋อ ซึ่งเป็นที่ตั้งท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
แนวโน้มเงินเฟ้อพุ่งจากหลากปัจจัย
ต้นปี 2564 สหรัฐเคยคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อตอนสิ้นปีว่าจะอยู่ที่ 2% แต่เอาเข้าจริง เงินเฟ้อในสหรัฐช่วงปลายปี 2564 สูงถึงเกือบ 7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยมีผลกระทบจากโอมิครอน เป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการดึงคนกลับเข้าทำงานหลังเกิดการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ปัญหาตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยังส่งผลให้ราคาก๊าซแพงลิ่วและเสี่ยงต่อการขาดแคลน ซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศสุดโต่ง ส่งผลให้ราคาผลผลิตการเกษตรและราคาสินค้าอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สภาวะเหล่านี้ผสมผสานกันสามารถนำไปสู่ภาวะ stagflation ที่หมายถึงภาวะเงินเฟ้อสูงและการว่างงานสูง ขณะที่เศรษฐกิจคงที่หรือถดถอย ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ยากต่อการแก้ไขสำหรับบรรดาธนาคารกลางและผู้กำหนดนโยบาย
หันมามองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก็มีทิศทางปรับสูงขึ้น ประเดิมด้วยถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณว่าจะเร่งยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงินให้เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมที่วางไว้ และเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ (2565)
เหตุการณ์ในอดีตที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน คือในปี 2556 และปี 2561 แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือปัญหาในตลาดหุ้นและตลาดเงิน
สำหรับปีนี้ (2565) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามมาก็คือ ตลาดหุ้นสหรัฐกำลังอยู่ในภาวะใกล้จะเป็นฟองสบู่ ในขณะที่ราคาบ้านก็พุ่งแรงและเร็วขึ้น จนตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2550
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ระบุ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และส่งสัญญาณรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ก็จะดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนและของรัฐบาลจะถ่างกว้างขึ้น และหากเป็นเช่นนั้น สหรัฐอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงต้นปีหน้า (2566)
และสำหรับประเทศอื่นๆ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หมายถึง เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น และเกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก ในอดีตที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตค่าเงินในประเทศกำลังพัฒนา นักวิเคราะห์เตือนว่า ครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงที่ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก
แล้วจะหวังพึ่งเฟืองจักรเศรษฐกิจของจีนได้ไหม
จีนเองก็มีปัญหา ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา (2564) สะท้อนให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ลดลงเหลือเพียง 0.8% หรือแทบจะหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัยถ่วง ซึ่งรวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเอเวอร์แกรนด์ ที่พลอยฉุดให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีนในภาพรวมทรุดตามไปด้วย นอกจากนี้ การประกาศล็อกดาวน์เมืองต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตาม นโยบาย “สกัดโควิดให้สิ้นซาก” หรือ "ซีโรโควิด" ก็เป็นอีกปัจจัยถ่วง รวมทั้งภาวะขาดแคลนพลังงานที่เกิดขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาพลังงานอาจคลี่คลายได้ในปีนี้ (2565) แต่นโยบายซีโรโควิดของจีนยังคงอยู่ และอาจส่งผลกระทบหนักขึ้นหากเกิดการระบาดลุกลามของโอมิครอนในจีน ขณะเดียวกัน คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของจีดีพีจีน ก็ยังอาจร่วงลงต่อเนื่องในปีนี้
สำนักวิจัยบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ประเมินว่า จีดีพีจีนน่าจะขยายตัวที่ 5.7% แต่หากการขยายตัวชะลอลงสู่ระดับ 3% ไม่เพียงจีนจะมีปัญหาเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็จะพลอยได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรอีก
โลกในปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมาก ที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญ หนึ่งในนั้น คือความไม่แน่นอนในยุโรป โดยการขาดหายไปของผู้นำมากบารมีอย่างนางอันเกลา แมร์เคิล อดีตผู้นำเยอรมนี อาจส่งผลให้เกิดกระแส "ไม่เอาอียู" กลับมาสู่ภูมิภาคยุโรปอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ความขัดแย้งภายในพื้นที่ยูโรโซนเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณขาดดุล พุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง
ไหนจะปัญหาเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป(อียู) ว่าด้วยเรื่องพรมแดนทางบกที่ไอร์แลนด์เหนือที่อาจนำไปสู่ภาวะ "ฮาร์ดเบร็กซิท" ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ปัญหาขัดแย้งกรณีไต้หวันยังอาจนำไปสู่ "สงครามระหว่างมหาอำนาจ" ทางทหาร รวมทั้งการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกกรณีของยูเครน เป็นต้น