สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บิตคอยน์ร่วง ลงสู่ระดับ “ต่ำที่สุด” ในรอบ 3 เดือนเมื่อวันศุกร์ (7 ม.ค.) ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปิดระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศ คาซัคสถาน ซึ่งกำลังมีการประท้วงที่ทวีความรุนแรงกลายเป็น “จลาจล” และประธานาธิบดีได้สั่งปราบปรามผู้ร่วมการชุมนุมอย่างเฉียบขาด
กลับมาดูที่ราคาบิตคอยน์ก่อนตามร่องรอยของเหตุผลแห่งความผันผวน ข้อมูลจาก Coin Metrics ระบุว่า ราคาบิตคอยน์ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 41,000 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (7 ม.ค.) โดยหลังเวลา 10.50 น.ตามเวลาสหรัฐ ราคาบิตคอยน์ดิ่งลงแตะ 40,749.90 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 64 ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาปิดตลาดที่ 41,947.75 ดอลลาร์ นับว่าลดลง 2.9%
“บิตคอยน์” ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มร่วงลงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธ.ค.ที่บ่งชี้ว่า เฟดจะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศใช้ในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดได้ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลก และลุกลามไปยังตลาดคริปโทด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของราคาบิตคอยน์และตลาดหุ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
นอกจากบิตคอยน์แล้ว เงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ ก็มีทิศทางดิ่งลงในวันศุกร์เช่นกัน โดยอีเธอเรียมและโซโลนา ร่วงลง 6.8% และ 7.7% ตามลำดับ
ปัจจัยที่สองน่าสนใจยิ่งกว่า นอกจากความวิตกเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแล้ว ราคาเงินคริปโทยังร่วงลงด้วยข่าวที่ว่าประธานาธิบดีของ “คาซัคสถาน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา) ได้สั่งปิดการให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศหลังเกิดเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ และเมื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตดับ ก็ส่งผลกระทบเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งสื่อระบุว่า ราว 15% ไม่สามารถดำเนินการได้
ศูนย์วิจัยการเงินทางเลือกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เปิดเผยว่า คาซัคสถานมีสัดส่วน 18% หรือราวๆ 1 ใน 5 ของพลังงานในการประมวลผลเครือข่ายบิตคอยน์ทั้งหมด โดยนักขุดบิตคอยน์จำนวนมากได้ย้ายหนีจากจีนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่อันดับ1 ของโลก ไปยังคาซัคสถาน หลังทางการจีนสั่งห้ามการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ภายในประเทศ
จีนเคยครองสัดส่วนการขุดบิตคอยน์ 1 ใน 3 ของโลก แต่หลังการกวาดล้างของรัฐบาลจีน ส่วนแบ่งเหล่านี้ตกเป็นของสหรัฐอเมริกา คาซัคสถาน และรัสเซียแทน โดยสหรัฐมีส่วนแบ่งกำลังการประมวลผลในการขุดบิตคอยน์ประมาณ 35.4% ของทั้งโลก
เมื่อเหตุการณ์ประท้วงในคาซัคสถานทวีความรุนแรงจนระบบอินเทอร์เน็ตถูกชัตดาวน์ นั่นก็หมายความว่า ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต เหมืองขุดบิตคอยน์มากกว่า 15% ในคาซัคสถานจึงตกอยู่ในสภาพออฟไลน์
ทั้งนี้ คาซัคสถานได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง เนื่องจากครอบครองทรัพยากรพลังงานเเละแร่โลหะมีค่าหลายชนิด ทำให้คาซัคสถานเหมาะกับการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ เพราะมีต้นทุนราคาพลังงานที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ตอนนี้เหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน การประท้วงยังคงมีความรุนแรง ไม่รู้จะคลี่คลายเมื่อไหร่ ผลกระทบที่มีต่อบิตคอยน์และตลาดคริปโทโดยรวมจึงยังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาชาวคาซัคสถานหลายหมื่นคนออกมารวมตัวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ นับตั้งแต่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยช่วงแรกประชาชนได้ออกมาประท้วงที่ราคาเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเหลวพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลเปลี่ยนจากการคุมราคา มาเป็นปล่อยให้ราคาพลังงานชนิดนี้ลอยตัวสะท้อนกลไกตลาด แต่ต่อมาการประท้วงได้ขยายวงกว้าง จากเรื่องพลังงานกลายมาเป็นการประท้วงแสดงความเดือดดาลของประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล หลังจากที่ถูกปกครองโดยพรรคการเมืองเดิมมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีนับตั้งแต่ที่เป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต