นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเสนอแนะภาครัฐ กรณีกฎหมายการจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเจตนาของภาครัฐว่าต้องการส่งเสริมหรือสกัดกั้นสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทยกันแน่
“ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐที่ผมพูดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเรื่องเว้นการจัดเก็บภาษีคริปโท วันนี้มันเริ่มร้อนแรงขึ้น แม้มันไม่ง่ายที่จะแก้ แต่ถ้าจะแก้มันก็ต้องแก้ อำนาจ รมว.คลังทำได้ และผมก็ได้พูดคุยเรื่องนี้กับอธิบดีกรมสรรพากร ท่านก็ยินดีที่จะรับเรื่องไปพิจารณา คงจะเป็นการประชุมในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ อธิบดีฯ เข้าใจถึงปัญหาการจัดเก็บ และจะพยายามปรับแก้ให้มันเหมาะสมได้”
การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องนำกำไรส่วนต่างจากการถือครองหรือการโอน นำไปคิดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไรที่ได้ กฎหมายนี้ออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยาก โดยเฉพาะการคำนวณต้นทุน และการหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่สามารถทำได้จริง
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ จึงได้เสนอให้รัฐบาล "ยกเลิกการจัดเก็บภาษีคริปโท" พร้อมเหตุผล 3 ข้อ ที่ได้เดินหน้าผลักดันมาตลอดหลายปีตั้งแต่ก่อนจะมีพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 และได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ยืนยันจะเดินหน้าเข้าพูดคุยกับกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด
“ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่การยกเว้นการจัดเก็บ ซึ่งการยกเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นอำนาจรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีคลังก็นำเสนอ ครม. ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำก่อนจะเกิดผลกระทบเสียหายมากไปกว่านี้” นายปริญญ์ ระบุ พร้อมอธิบายเหตุผล 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1.การยกเลิกจัดเก็บภาษีคริปโท จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนในตลาด
การที่รัฐบาลเก็บภาษีมันไม่ใช่แค่การนำรายได้เข้าสู่ภาครัฐ แต่มันเป็นการจัดเก็บเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การจะทำได้ก็ควรจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมือนกันกับที่สนับสนุนตลาดหลักทรัพย์มาตลอดกว่า 40 ปี ในการที่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษี Capital Gains
ดังนั้น มันก็ควรจะเกิดความเสมอภาค ทั้งต่อนักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่ระดมทุนฝั่งตลาดหุ้นและฝั่งของผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยที่ระดมทุน หรือประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
จะทําอย่างไรให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนตัวใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นกับสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งคนที่เข้ามาลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี การจัดเก็บภาษีตัวนี้จะทำให้พวกเขาต้องเสีย 15% ,25% หรือ 35% ด้วยซ้ำตามแต่ฐานเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อน
"ทำไมมันเขย่งกันขนาดนั้น ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าอยากสนับสนุน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ให้เติบโตได้ แต่คุณมาลงโทษเขาผ่านภาษีเหล่านี้ แทนที่จะคิดเก็บภาษีคริปโท รัฐควรจะคิดลดหย่อนภาษีให้อุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ด้วยซํ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ” นายปริญญ์ ระบุ
2. ป้องกันคนเก่งสมองไหล และช่วยสนับสนุน GDP ประเทศ
นอกจากนี้ กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล “ในทางปฏิบัตินั้นทำได้ยาก” ทั้งรูปแบบการจัดเก็บ, วิธีการคำนวณต้นทุนที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความกังวลและไม่กล้าที่จะลงทุน ประเทศไทยจะเสียโอกาสสร้างวัฎจักรอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ เพราะจะเกิดภาวะสมองไหลไปต่างประเทศได้
"ยกตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพเก่งๆ แทนที่จะระดมทุนในไทย เขาก็แค่เอาบริษัทไประดมทุนในต่างประเทศที่กฎหมายเอื้อต่อการระดมทุนมากกว่า หรือในแง่ของผู้ลงทุน แทนที่เขาจะอยากจ่ายภาษีเขาก็กลายเป็นเอาเงินไปลงทุนกับแพลตฟอร์มต่างชาติดีกว่า อย่างเช่น Binance หรือที่อื่นๆ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้คนไทยสนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ได้"
ทั้งนี้ วงการสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทยได้อย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมได้จากเทคโนโลยีบล็อกเชน
“จะให้รายเล็กรายน้อยไปออกหุ้นกู้ หรือระดมทุนในตลาดหุ้น มันไม่ง่ายเลย นี่คือช่องทางเขา อย่าปิดช่องทางเขาด้วยภาษี หรือไล่บี้ด้วยกฎหมายที่พะรุง พะรังจนเกินควร”
3. กฎหมายต้องมีไว้เพื่อการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อควบคุมและลงโทษคนทำผิด
นอกจากเรื่องกฎหมายภาษีคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว นายปริญญ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังจะเข้ามาควบคุมตลาด NFT ว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง" เนื่องจาก NFT ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าที่จะมาออกกฎหมายกำกับในขณะที่ตลาดยังไม่เติบโต เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นนวัตกรรม
"ภาครัฐไม่ควรที่จะทำตัวเป็นคุณพ่อแสนรู้ มันไม่เหมาะสมที่จะทำตัวเป็นนักกฎหมายยุคเก่า คิดแต่จะออกกฎหมายมาควบคุม มากจนเกินควร คุณต้องเปิดให้นวัตกรรมมันเติบโตไปก่อน เพราะยังไงกฎหมายก็ไม่มีทางตามทันอยู่แล้ว"
ทั้งนี้ต้องปล่อยให้ตลาดเติบโตได้เต็มที่ก่อน ภาครัฐค่อยเข้ามาควบคุมในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่การตัดสินใจกระโดดเข้ามากำกับควบคุมอย่างฉับพลัน เพียงเพราะเห็นว่าเกิดกระแสความนิยมในเทคโนโลยีนั้นๆ อย่างมาก ซึ่งการทำแบบนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในอดีต ยุคของ ICO ปี 2561 ที่กำลังเติบโต เอกชนเริ่มจะสนใจระดมทุนด้วยแนวทางนี้ ขณะนั้นภาครัฐก็ได้เร่งออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ที่สุดแล้วตลาดการระดมทุนแบบ ICO ก็ชะงักลง สตาร์ทอัพหันไประดมทุนในต่างประเทศแทน