อานิสงส์โควิด 10 มหาเศรษฐีโลกรวยเพิ่มมากกว่าสองเท่า

17 ม.ค. 2565 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 18:34 น.

“อ็อกซ์แฟม” เผยผลศึกษาน่าตกใจ ช่วงสองปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกมีคนยากจนเพิ่มขึ้น 160 ล้านคน แต่ช่วงเวลาเดียวกัน มหาเศรษฐีในอันดับ Top10 ของโลกก็มีความร่ำรวยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เฉพาะอีลอน มัสก์ รวยเพิ่มถึง 1,000%

ผลการศึกษาของ มูลนิธิอ็อกซ์แฟม (Oxfam) สมาพันธ์องค์กรการกุศลที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ระบุว่า ขณะที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นเวลากว่าสองปีแล้วนั้น มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 10 คน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าสองเท่า โดยพวกเขามีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นจาก 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มเฉลี่ยถึงวันละ 1,300 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ 10 สุดยอดมหาเศรษฐีโลกดังกล่าวซึ่งเป็นการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส (Forebes) ได้แก่

  • นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเทสลาและสเปซเอ็กซ์
  • นายเจฟฟ์ เบซอส เจ้าพ่อบริษัทอี-คอมเมิร์ซ แอมะซอน
  • นายแบร์นาร์ด อาร์โนลต์ ประธานและซีอีโอ อาณาจักรแบรนด์หรูของฝรั่งเศส LVMH
  • นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์
  • แลร์รี แอลลิสัน อดีตซีอีโอบริษัทออราเคิล
  • นาย แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล
  • นายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก (เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เมทา ในปัจจุบัน)
  • นายสตีฟ บอลล์เมอร์ อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์
  • นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีชาวอเมริกันเจ้าของฉายา “พ่อมดการลงทุน”

คลิกที่นี่ ดูอันดับมหาเศรษฐีโลก

 

อ็อกซ์แฟม ซึ่งเป็นสมาพันธ์องค์กรการกุศลที่มุ่งบรรเทาปัญหาความยากจนทั่วโลก ระบุด้วยว่า มหาเศรษฐีกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นการเพิ่มอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 14 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญภาวะถดถอย (recession) ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่กรณีตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มเมื่อปี 1929

อีลอน มัสก์ ร่ำรวยเพิ่มขึ้น 1,000%

ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นนี้มีอัตราแตกต่างกันไป เช่นกรณีของ นายอีลอน มัสก์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (เริ่มจากเดือนมี.ค. 2563) ทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่า 1,000% ขณะที่นายบิล เกตส์ อดีตมหาเศรษฐีอันดับ1 ของโลกที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการกุศล มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเพียง 30% เป็นต้น

 

รายงานฉบับนี้เตือนว่า ขณะที่มีมหาเศรษฐีรวยขึ้น ๆ มากกว่าสองเท่า แต่มีประชากรโลกอีกจำนวนมากที่จนลง ๆท่ามกลางโควิด ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวถือเป็น “ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ” (economic violence) และมีส่วนทำให้ประชากรโลกเฉลี่ย 21,000 คนต่อวันต้องเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การเผชิญความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ การเผชิญความหิวโหย และการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

อ็อกซ์แฟมระบุด้วยว่า โควิด-19 ทำให้ประชากรโลกเข้าสู่วงจรความยากจนเพิ่มขึ้นถึง 160 ล้านคน โดยคนเหล่านี้มีรายได้ไม่ถึง 5.50 ดอลลาร์ หรือไม่ถึง 182 บาทต่อวัน จัดอยู่ในข่ายคนยากจนในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง

 

ทั้งนี้ ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ไม่ใช่คนผิวขาว (non-white ethnic minorities) และสตรี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

อ็อกซ์แฟม ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการกุศล เรียกร้องให้มีการปฏิรูปภาษี เพื่อนำมาเป็นทุนอุดหนุนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และการต่อต้านความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ เพื่อรักษาชีวิตของผู้คน

 

โดยปกติ รายงานการศึกษาของอ็อกซ์แฟมจะมีการนำเสนอภายในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (WEF) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประจำในช่วงต้นปีของทุกปี แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดงานดังกล่าวระงับรูปแบบปกติไปชั่วคราวมาสองปีแล้ว และปีนี้ กำหนดจัดงานมีขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่จะเป็นการจัดในรูปแบบการประชุมออนไลน์เท่านั้น