นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัทเทสลา อิงค์ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ระดับโลก ทวีตข้อความวานนี้ (19 ธ.ค.) ระบุว่า เขาจะจ่ายภาษีรวมมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้ออกมาโจมตีนายมัสก์ทางทวิตเตอร์ กล่าวหาว่า นายมัสก์ “ควรจ่ายภาษีและหยุดเอาเปรียบผู้อื่น”
ซึ่งภายหลังจากนั้น นายอีลอน มัสก์ ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า เขาจะจ่ายภาษีในปีนี้มากกว่าชาวอเมริกันทุกคนในประวัติศาสตร์ที่เคยจ่ายมา
ทั้งนี้ นายมัสก์เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเพิ่งได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2564 ขณะบริษัทเทสลาที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ก็มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นายมัสก์ได้ขายหุ้นเทสลาออกไปเกือบ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา นายมัสก์ได้ตั้งโพลสอบถามความคิดเห็นจากผู้ติดตามเขาในทวิตเตอร์ว่า เขาควรขายหุ้น 10% ในบริษัทเทสลาเพื่อนำเงินไปจ่ายภาษีหรือไม่ ซึ่งผลโหวตกว่า 3.5 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 57.9% แนะนำให้เขาขายหุ้นเทสลาจำนวนดังกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทเทสลาได้ว่าจ้างนายเดวิด มิสเลอร์ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคนใหม่ด้านการบริหารจัดการ โดยนายมิสเลอร์เป็นอดีตนักกฎหมายของกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ
ที่ผ่านมานั้น เทสลาเคยมีคดีความกับ SEC ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่นายมัสก์ได้แสดงความเห็นบนทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตามเขาเป็นจำนวนหลายสิบล้านราย และความเห็นของเขาก็มักจะมีผลต่อราคาหุ้นในตลาด
ในปี 2562 ทาง SEC ได้ยื่นฟ้องนายมัสก์และเทสลาฐานกระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ หลังจากที่นายมัสก์ได้ทวีตข้อความว่าเขากำลังพิจารณานำเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ระดับราคา 420 ดอลลาร์ และในเวลาต่อมาบริษัทเทสลาและนายมัสก์ได้ยุติคดีความกับ SEC ด้วยการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 20 ล้านดอลลาร์ และลงนามในข้อตกลงที่กำหนดว่า นายมัสก์จะต้องยุติบทบาทประธานคณะกรรมการบริหารของเทสลาเป็นการชั่วคราว และข้อความบนทวิตเตอร์ของเขาจะต้องได้รับการตรวจสอบจากอัยการก่อนที่จะโพสต์สู่สาธารณะ
ก่อนหน้านี้ เขาเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐเสมอมา ว่าปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลเอง และสิ่งที่รัฐทำเพื่อแก้ไขเรื่องยุ่งเหยิงเหล่านี้ก็คือการมารีดภาษีจากประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้สูงอย่างพวกเขา