ย้อนไทม์ไลน์สายสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

25 ม.ค. 2565 | 02:22 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2565 | 09:57 น.

การเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค.นี้ นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของความสัมพันธ์ที่ตกต่ำมาเกือบ 3 ทศวรรษ และเป็นการเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของผู้นำไทยในรอบ 30 ปี

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ ดอนๆ ของ ไทยกับซาอุดีอาระเบีย นั้นมีความขัดแย้งบาดหมางในหลายเรื่องเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การเชื่อมประสานเป็นไปได้ยาก เพิ่งจะเริ่มมีความหวังเกิดขึ้นใหม่เมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียในเดือนมกราคม 2563 ตามคำเชิญของฝ่ายซาอุฯ และเป็นการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี

 

ประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ จากนั้นมาก็ได้เห็นพัฒนาการในทางบวกระหว่างทั้งสองประเทศเป็นลำดับ

 

เรามาย้อนดู ไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ที่ผ่านวิบากและขวากหนามในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ว่าก่อนจะคลี่คลายได้ในวันนี้นั้น เป็นมาเช่นไร

ในเดือนมกราคม 2532 เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารใจกลางเมืองกรุงเทพ (4 ม.ค.)  แต่ตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวในความสัมพันธ์ เพราะต่อมา...

 

ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกันนั้น (2532) นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยที่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ได้ทำการโจรกรรมเครื่องเพชรน้ำหนักรวม 91 กิโลกรัม (200 ปอนด์) แล้วลักลอบส่งทางไปรษณีย์กลับประเทศไทย โดยตัวเขาเองก็เดินทางกลับไทยหนีความผิด ทั้งที่ยังทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง  แต่หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน

 

ขณะนั้น พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ คือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรกลับคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้อย่างรวดเร็ว นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป

ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่งในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน การที่ไม่ส่งตัวเขาไปดำเนินคดีที่ซาอุดิอาระเบียเพราะเกรงว่าหากทำเช่นนั้น โทษของนายเกรียงไกรจะมีเพียงสถานเดียว คือถูกแขวนคอเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่จบลงง่าย ๆ เพราะตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดีอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่สุด แต่ที่หักหน้ากันและถือเป็นความเสื่อมอย่างที่สุด คือของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนส่งกลับคืนให้ซาอุดีอาระเบียอีกด้วย กล่าวกันว่า ในจำนวนเพชรที่ส่งคืนนั้น ประมาณครึ่งหนึ่งเป็น “ของปลอม” นี่จึงเป็นประเด็นที่สร้างความขุ่นแค้นให้กับฝ่ายซาอุดีอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย

 

นายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยในขณะนั้น ได้ว่าจ้าง "ชุดสืบสวนพิเศษ" เพื่อแกะรอยอย่างลับ ๆ ตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิมเมื่อ ....

 

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เกิดเหตุฆาตกรรมเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมคดีเดิมก็เป็น 4 ศพแล้ว แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ ทั้งนี้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวน แต่ก็ผิดตัว

 

เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายต่อไปอีกเหมือนคลื่นแรงที่สาดซัด เมื่อ “นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี” นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันมาก แต่คดีนี้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ในข้อหาลักพาตัวนายอัลรูไวลีไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

 

แม้ไม่มีความเชื่อมโยงว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียเชื่อว่ารัฐบาลไทยดำเนินการ “ไม่เพียงพอ” ในการไขปริศนาเกี่ยวกับการฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย นำไปสู่ความไม่พอใจ ถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุก ๆ ด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด และตั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย อีกทั้งยังห้ามประชาชนของซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย

 

การที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดีอาระเบียได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย แต่การอุ้มฆ่านายอัลรูไวลีนั้น ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้ เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

 

เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คดีอัลรูไวลีไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่ง...

 

ต้นเดือนมกราคม 2553 ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี

 

แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ไม่เป็นจริง เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล เรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

 

ปลายเดือนมีนาคม 2557 หลังศาลยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และพวกในคดีอุ้มฆ่านายอัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย

 

อย่างไรก็ตาม ปลายปีเดียวกันนั้น ความหวังด้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์กลับมาอีกครั้งเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย เขาได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

 

กลางปี 2558 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในซาอุดีอาระเบีย คือการปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมักจะมีแต่ผู้อาวุโสระดับสูง ทั้งนี้ มีการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด พระราชโอรสของกษัตริย์ เป็นรองมกุฎราชกุมาร และยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่เป็นคนมีความสามารถอย่างนายอาดิล อัล-จูเบอีร์ เอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนเจ้าชายซาอุด อัล-ไฟซาล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 40 ปี

เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ จากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศซาอุดิอาระเบียเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับกรณีบาดหมางที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ซาอุดีอาระเบียจะได้รับหากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทั้งแถบเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆทั่วโลก

 

ซาอุดีอาระเบียเองนั้น เป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั่นคือ นครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย

 

แหล่งข่าววงในระบุว่า ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจากบางฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุยเพื่อเยียวยาความสัมพันธ์ที่เสื่อมทราม  โดยมีทั้งความพยายามของฝ่ายนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และความพยายามของนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่าง “บาห์เรน” ให้ช่วยเป็นกาวใจ เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง

 

เพราะฉะนั้น ในเดือนตุลาคม 2559 ในวันที่มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เราจึงได้เห็นนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เจ้าชายคอลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัล-คอลีฟะฮ์ นั่งสนทนาอยู่ด้วย อันเป็นการหารือกันแบบสามฝ่าย ประกอบด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และนายอเดล อัล-จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การพบปะครั้งนั้น เกิดขึ้น ณ ห้องสัตตบงกช กระทรวงการต่างประเทศ

 

ผลการหารือซึ่งเป็นไปอย่างฉันมิตรและสร้างสรรค์ พูดคุยในหลายประเด็น ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ความสัมพันธ์ที่หยุดชะงักมายาวนาน จะได้รับการฟื้นฟู เพื่อเป็นการเริ่มศักราชใหม่ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และทดแทนโอกาสและเวลาที่สูญเสียไป โดยจะได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อไป

 

25-26 มกราคม 2565 การเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสแห่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เปิดออกอย่างเต็มที่แล้ว หลังปิดเกือบสนิทมา 30 ปี  

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับเจ้าชายมกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน