คมเฉือนคมอินทรี-หมีขาว  ไบเดนขู่คว่ำบาตร เจอปูตินสวน จ่อส่งทหารเข้าคิวบา

27 ม.ค. 2565 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 09:41 น.

สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกาในกรณียูเครน ยังคงเพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรง โดยทั้งสองฝ่ายยังมีท่าทีแข็งกร้าวและข่มขู่กันด้วยสารพัดยุทธวิธี

ล่าสุดวานนี้ (26 ม.ค.) ทำเนียบเครมลิน ออกแถลงการณ์เตือนว่า รัสเซีย จะตอบโต้อย่างรวดเร็ว หากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย และยังคงดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าว ขณะที่ทำเนียบขาวยันพร้อมใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยตรงต่อผู้นำรัสเซียหากจำเป็น

 

ทั้งนี้ รัสเซียยื่นข้อเรียกร้องต่อสหรัฐและชาติตะวันตกเพื่อให้มีการรับประกันว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะไม่รับยูเครนและประเทศซึ่งเคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก นอกจากนี้ สหรัฐและพันธมิตรจะต้องถอนกำลังทหารออกจากกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตด้วย

 

แต่ผลก็คือในการเจรจากับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐและชาติตะวันตกได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว

 

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าววานนี้ (26 ม.ค.)ว่า รัสเซียกำลังรอคำตอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากสหรัฐ ก่อนที่เขาจะให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ถึงมาตรการที่รัสเซียจะดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าสหรัฐจะแจ้งคำตอบแก่รัสเซียภายในสัปดาห์นี้ “รัสเซียยังคงรอคำตอบจากสหรัฐ แต่จะไม่รอคอยตลอดไป” นายลาฟรอฟกล่าว "เราจะไม่ปล่อยให้ข้อเรียกร้องของเราจมปลักในการเจรจาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งหากตะวันตกยังคงมีท่าทีก้าวร้าว รัสเซียก็จะทำการตอบโต้อย่างสาสม"

คมเฉือนคมอินทรี-หมีขาว  ไบเดนขู่คว่ำบาตร เจอปูตินสวน จ่อส่งทหารเข้าคิวบา

นายลาฟรอฟยังกล่าวตอบข้อซักถามจากสมาชิกรัฐสภารัสเซียที่ว่า รัสเซียจะทำการตอบโต้สหรัฐด้วยการขยายความร่วมมือทางการทหารกับคิวบา เวเนซุเอลา และนิการากัวหรือไม่ นายลาฟรอฟกล่าวแต่เพียงว่า รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศดังกล่าว และจะเพิ่มความร่วมมือมากขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ รัสเซียระบุว่าจะไม่ตัดทางเลือกในการเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในคิวบาและเวเนซุเอลา หากข้อเรียกร้องของรัสเซียไม่ได้รับการตอบสนอง

 

ทั้งนี้ หากรัสเซียเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในคิวบาและเวเนซุเอลา ก็จะถือว่ารัสเซียมีกำลังทหารเข้าใกล้พรมแดนสหรัฐมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2505 (พ.ศ.2548) ซึ่งมีการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต จนเกือบลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าววานนี้เช่นกันว่า หากมีการโจมตียูเครน สหรัฐอาจคว่ำบาตรรัสเซีย โดยสั่งระงับไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งจะมีการสั่ง “อายัดทรัพย์สิน” ของปธน.ปูตินด้วย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อผู้นำรัสเซีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า รัสเซียจะต้องพบกับผลลัพธ์เลวร้ายอย่างใหญ่หลวงที่จะตามมา "การบุกยูเครนของรัสเซียหากเกิดขึ้นจะถือเป็นการเคลื่อนทัพในสงครามครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เราจำเป็นต้องแสดงให้ชัดเจนว่านาโตจะเข้าช่วยเหลือยูเครนอย่างแน่นอน"

 

เห็นได้ชัดแล้วว่า สถานการณ์การเผชิญหน้ากรณียูเครน ระหว่างรัสเซียและสหรัฐซึ่งมีชาติสมาชิกนาโตหนุนหลัง ไม่ได้มีแนวโน้มคลี่คลาย แต่กลับทวีความบีบคั้นกดดันมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายรัสเซียกล่าวหาสหรัฐว่าพยายามทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ทั้งยังตอบโต้อย่างเดือดดาลถึงกรณีกองเรือยุทธการของสหรัฐที่แล่นเข้ามาใกล้ชายฝั่งของรัสเซีย รวมถึงการส่งยุทธโธปกรณ์และที่ปรึกษาด้านสงครามเข้าไปยังประเทศยูเครนจำนวนมาก พร้อมยืนกรานปฏิเสธแผนรุกรานยูเครน

 

แต่ในทางปฎิบัติรัสเซียกลับระดมกำลังทหารกว่า 1 แสนนายเข้าประชิดชายแดนทางตะวันออกของยูเครน ทั้งยังมีกำลังทหารรัสเซียอยู่ในเบลารุส ทางเหนือของกรุงเคียฟ (เมืองหลวงของยูเครน) และแคว้นไครเมีย ทางใต้ของยูเครน ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้อาณัติปกครองของรัสเซีย หากรัสเซียบุกโจมตีจริง ยูเครนจะเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิงและนั่นสร้างก็ความหวาดผวาให้ชาติตะวันตกอย่างมาก

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากแวดวงการทูตคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กับรัสเซียนั้นมีไม่มาก แต่กังวัลว่าอาจเกิดการปะทะและกลายเป็นการสู้รบในพื้นที่จำกัด

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สหรัฐเองนั้นไม่มีสนธิสัญญากับยูเครนในการเข้าช่วยปกป้องยูเครนหากถูกรุกราน ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนเองก็เคยกล่าวว่าการส่งทหารอเมริกันเข้าร่วมความขัดเเย้งระดับสงครามในบริเวณดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น

 

แต่อีกด้านหนึ่งการนิ่งเฉย หรือตอบโต้น้อยเกินไปของสหรัฐก็อาจจะทำให้รัสเซียเพิ่มระดับความเเข็งกร้าวในยุโรปตะวันออกและส่วนคาบเกี่ยวเขตบอลติกที่มี 3 ประเทศ คือลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย เป็นพันธมิตรของสหรัฐภายใต้สนธิสัญญานาโต

 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในบริบทของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐโดยรวม การส่งทหารอเมริกันร่วมรบ หากเกิดสงครามระหว่างรัสเซียเเละยูเครน จะทำให้สหรัฐเสี่ยงต่อการสูญเสีย ขณะที่ผลแห่งสงครามเป็นเรื่องคาดเดายาก

 

ฟิลิป บรีดเลิฟ นายพลเกษียณอายุจากกองทัพอากาศอเมริกันซึ่งเคยทำหน้าที่บัญชาการภายใต้กลุ่มนาโตระหว่างปี ค.ศ.2013 ถึง 2016 ให้ความเห็นว่า สหรัฐเเละพันธมิตรสามารถช่วยยูเครนในการป้องกันน่านฟ้าและน่านน้ำ แต่ไม่ควรส่งหน่วยรบลงพื้นที่ในยูเครน

 

ขณะที่บทวิเคราะห์ของสถาบัน Center for Strategic and International Studies ที่เขียนโดยอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ฟิลิป วาเซลิวสกี และนักรัฐศาสตร์ เซธ โจนส์ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ระบุว่า วิธีการที่จะสกัดกั้นรัสเซีย คือการขัดขวางไม่ให้รัสเซียได้ชัยชนะอันรวดเร็ว และใช้การลงโทษทางเศรษฐกิจรวมทั้งการโดดเดี่ยวทางการเมือง เพื่อให้รัสเซียต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางทหารที่สูงขึ้น

 

ปัจจุบันสหรัฐมีเจ้าหน้าที่อเมริกันประมาณ 200 คนในยูเครน โดยมาจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ(National Guard) ของสหรัฐ โดยพวกเขามีหน้าที่อบรมและให้คำเเนะนำกองทัพยูเครน

 

หากนับตั้งเเต่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารเเก่ยูเครนไปแล้วมูลค่ารวม 2,500 ล้านดอลลาร์ และยังมีความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้อีกเพื่อการป้องกันด้านกลาโหมเเก่ยูเครนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในบรรดาความช่วยเหลือเหล่านั้นครอบคลุมถึงจรวดต่อต้านรถถัง และอุปกรณ์เรดาร์

 

บทวิเคราะห์ของสถาบัน Center for Strategic and International Studies ระบุด้วยว่าหากรัสเซียบุกยูเครนจริง สหรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือทางการทหารเเก่ยูเครนเพิ่มเติมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และสามารถทำได้ในระยะยาว ทั้งในรูปแบบอาวุธและการก่อสงครามบนระบบอินเตอร์เน็ต