องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผย รายงานข้อมูลระบาดวิทยา ประจำสัปดาห์นี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่พบในสิ่งส่งตรวจไวรัสโคโรนามากกว่า 93% ของทั้งหมดที่รวบรวมได้ใน 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยหลายชนิด ได้แก่ BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3
สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยชนิดแรกที่จำแนกได้นั้น ยังคงเป็นสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 96% ที่ตรวจพบในการจัดลำดับทางพันธุกรรมโอมิครอนที่เผยแพร่ผ่านทางโครงการริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์โลก GISAID
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้เผยว่า “มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” ของการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจากสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงที่โปรตีนหนามบนพื้นผิวไวรัสที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์
รายงานกล่าวว่า นับจนถึงขณะนี้ GISAID ได้รับข้อมูลการพบสายพันธุ์ BA.2 แล้วจาก 57 ประเทศทั่วโลก โดยในบางประเทศนั้น สายพันธุ์ย่อยนี้พบมากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อมูลลำดับพันธุกรรมสายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับ
WHO กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ย่อยต่างๆ และควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมคุณลักษณะเฉพาะ รวมถึงความสามารถในการแพร่เชื้อ การหลบหลีกการป้องกันของภูมิคุ้มกัน และศักยภาพในการก่อโรค
ผลการศึกษาหลายชิ้นในช่วงไม่นานมานี้บ่งบอกว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม
ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ของ WHO กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับ BA.2 ยังคงมีจำกัด แต่ข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างบ่งชี้ว่า BA.2 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ BA.1
ทั้งนี้ ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนโดยทั่วไปนั้น เท่าที่มีรายงานมา ได้ก่อโรครุนแรงน้อยกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา อย่างไรก็ตาม ฟาน เคอร์โคฟกล่าวว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ใด ๆว่า BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ความรุนแรงของโรค
ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ย้ำสรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นโควิดสายพันธุ์ใด ก็ยังคงเป็นโรคระบาดที่อันตราย และประชาชนควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อให้มากที่สุด