องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า ไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ที่เรียกว่า BA.2 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสายพันธุ์ย่อยนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในผู้ที่เคยติดเชื้อโอมิครอนมาก่อนหรือไม่
แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ของ WHO ระบุว่า ทางองค์การฯกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อย 4 สายพันธุ์ของโอมิครอน โดยเธอคาดว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์หลักของโอมิครอน จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วไปมากขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์หญิงมาเรียยังระบุว่า WHO กำลังเฝ้าระวัง BA.2 เพื่อดูว่าสายพันธุ์ย่อยนี้ส่งผลให้เกิดยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโอมิครอนไปแล้วหรือไม่
“ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ย่อยแต่ละสายพันธุ์ก่อให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงต่างกัน แม้การวิจัยในประเด็นนี้จะยังไม่สรุปผล และโดยทั่วไปแล้ว สายพันธุ์โอมิครอนไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์อัลฟาหรือเดลตา แต่ก็สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า” แพทย์หญิงมาเรียกล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานผลวิจัยของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งระบุว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโควิดโอมิครอนแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์หลักราว 1.5 เท่า ทั้งยังสามารถทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสและเข็มบูสเตอร์ติดเชื้อได้
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสจะมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
แพทย์หญิงมาเรียกล่าวว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการล้มป่วยหนักและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งหมดก็ตาม โดยเธอได้แนะนำให้ทุกคนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนและสวมหน้ากากอนามัยแม้เมื่ออยู่ในอาคาร
ทำไมถึงเรียก BA.2 ว่า “สายพันธุ์ล่องหน”
Stealth Omicron หรือ โอมิครอนสายพันธุ์ล่องหน เป็นชื่อเรียกหรือฉายาของสายพันธุ์ย่อยบีเอทู (BA.2) ชื่อ “ล่องหน” นั้นมีที่มา เนื่องจากไม่มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า มันเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลตากันแน่
แม้ผู้ติดเชื้อชนิดนี้จะมีผลตรวจโควิดเป็นบวกจากการใช้ชุดทดสอบ ATK หรือจากการตรวจแบบ PCR แต่ก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 หรือไม่ จนกว่าจะมีการใช้เทคนิคแบบพิเศษเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้จะแพร่กระจายได้ง่ายยิ่งกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก แต่โชคดีที่ในขณะนี้นักวิจัยยังไม่พบข้อมูลซึ่งชี้ว่า BA.2 จะทำให้เกิดอาการของโรคโควิดที่รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้
ปัจจุบัน มีการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโอมิครอนแตกแขนงออกไปถึง 4 สาย ได้แก่ บีเอวัน (BA.1) บีเอทู (BA.2) บีเอทรี (BA.3) และ B.1.1.529
องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ว่า ข้อมูลดีเอ็นเอของไวรัสโควิดที่ถูกส่งเข้ามาจากทั่วโลกนั้น 99% เป็นของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ขณะที่ BA.2 ซึ่งมีการตรวจพบครั้งแรกในฐานข้อมูลพันธุกรรมไวรัสของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพ.ย. 2564 นั้น มีการแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์หลักราว 1.5 เท่า และตรวจพบแพร่ระบาดแล้วใน 57 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล WHO) ทั้งยังขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักแล้วในบางประเทศเช่น เดนมาร์ก ขณะนี้ ภูมิภาคส่วนใหญ่ของยุโรปและบางส่วนของเอเชีย กำลังพบสถานการณ์ที่ว่า BA.2 เริ่มแพร่กระจายมากกว่า BA.1
บิจายา ดากัล นักชีววิทยาโมเลกุลอินเดีย ระบุว่า นอกจากเดนมาร์ก ยังมีอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่โอมิครอน BA.2 กำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน BA.1 อย่างรวดเร็ว โดย BA.2 กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายรัฐของอินเดีย และมีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ในประเทศอินเดีย
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ (DOH) ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบ BA.2 รายงานว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้นมีสัดส่วนการระบาดที่สูงในตัวอย่างที่รวบรวมเมื่อปลายเดือน ม.ค.2565
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร นางมีรา ชานด์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) กล่าวว่า มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน BA.2 ที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 1,000 ราย และได้กำหนดให้เป็น “สายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ (VUI)” ซึ่งหมายความว่าพวกเขากำลังเฝ้าระวัง BA.2 อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ถึงกับกังวลมากเกินไป
นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ที่เยอรมนีเอง ก็กำลังพบอัตราการระบาดของ BA.2 ที่เติบโตสูงขึ้นจนสัดส่วนการระบาดแซงหน้า BA.1 และเดลตาไปแล้วเช่นกัน