วันที่ 3 มีนาคม 2565 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่นานาชาติออกมากดดัน เรียกร้องถึงรัสเซียให้หยุดการสู้รบกับยูเครน
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้มีถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติในสมัยสามัญ ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และการประชุมสหประชาชาติสมัยพิเศษผ่านนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย และยูเครน
ไทยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในยูเครน และผลกระทบด้านมนุษยธรรม รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติวิธีซึ่งไทยสนับสนุนความพยายามในการหาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติ
ผ่านการเจรจาที่เป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน และสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการหาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ไทยชื่นชมเพื่อนบ้านของยูเครน และชาติอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยจะทำอย่างสุดความสามารถในการที่จะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะส่งความช่วยเหลือโดยตรง และผ่านความร่วมมือกับชาติต่างๆ ที่เห็นตรงกัน ไทยสนับสนุนการหยุดยั้งการใช้กำลัง หรือการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น
ดังนั้น จึงเรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรง และการใช้อาวุธทันที ยิ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม และผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจของคนทั่วโลก ซ้ำเติมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่ยิ่งเปราะบางอยู่แล้ว ไทยจึงขอเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติที่ยั่งยืน ผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกภูมิภาค หรือกลไกอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับ
ล่าสุด ช่วงเย็นวันที่ 3 มีนาคม 65 กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข้อความบนทวิตเตอร์ @MFAThai เปิดเผยคำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทย ที่กล่าวหลังการลงคะแนนเสียง โดย นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยเร่งด่วนเป็นพิเศษ ครั้งที่ 11 (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) วันที่ 2 มีนาคม 2565 มีดังนี้
1.ประเทศไทยได้พิจารณาร่างข้อมติฯ อย่างรอบคอบ และได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนข้อมติฯ เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐต่าง ๆ
2.การที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อมติฯ ยังเป็นการย้ำถึงความห่วงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อความยากลำบากของ พลเมืองที่เดือดร้อน และผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อบริเวณที่มีการสู้รบและความรุนแรง ในการนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน
3.เรายังมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นระเบียบระหว่างประเทศที่อิงพื้นฐานของกฎเกณฑ์ และขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและขอให้ทุกฝ่ายเพิ่มการหารือผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การหาทางออกอย่างสันติให้แก่สถานการณ์นี้
กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เปิดเผย ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565
1.ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการสถานการณ์ความรุนแรงและการปะทะระหว่างกันที่แย่ลง ซึ่งเป็นผลจากการใช้กำลังทหารในยูเครน ที่ส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต รวมถึงชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์และความเสียหายของทรัพย์สินและสาธารณูปโภคของพลเรือน
2. รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 ตั้งแต่นั้น การปะทะด้วยอาวุธยังคงดำเนินต่อไป โดยมีผู้เสียชีวิตซึ่งรวมถึงพลเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
3. สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัย และผู้หนีการสู้รบมีความน่ากังวลเป็นพิเศษ ประเทศไทยชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนและรัฐอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในส่วนของประเทศไทย จะให้ความร่วมมืออย่างสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง และผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
4.ประเทศไทยเคารพหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นเอกราชของรัฐ รวมทั้งการละเว้นการใช้กำลังหรือการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น เราจึงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการปะทะทางอาวุธโดยทันที สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมความเปราะบางด้านมนุษยธรรม และเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้
5. ประเทศไทยขอย้ำคำเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อหาข้อยุติโดยสันติวิธี และมีทางออกที่ยั่งยืน ผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกระดับภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในการนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการหารือทวิภาคีล่าสุดระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จ
6. ในฐานะประเทศที่รักความสงบ มีความศรัทธาในเจตนาดีของชาติต่าง ๆ และความเข้าอกเข้าใจกันของมวลมนุษยชาติ เราจึงจะยังสานต่อความหวังว่า ในที่สุดทุกฝ่ายจะกลับเข้าสู่เส้นทางของสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
ทั้งนี้ สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นจีเอ ลงมติรับข้อมติในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 141 เสียง รวมถึงไทย และไม่เห็นด้วย 5 เสียง ได้แก่ เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทเรีย และรัสเซีย
งดออกเสียง 35 เสียง จากทั้งหมด 193 ประเทศ เพื่อยืนยันถึงอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน เรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลัง และถอนกองกำลังออกจากยูเครนโดยทันที
อ่านรายละเอียดที่นี่