ธุรกิจนานาชาติร่วมกระแส "แบนรัสเซีย" แห่ปิดสำนักงาน-ย้ายฐานการผลิต

07 มี.ค. 2565 | 05:03 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 14:15 น.

บริษัทหลากสัญชาติเข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยหลายแห่งได้ทยอยปิดสำนักงานและโยกย้ายฐานการผลิตออกจากรัสเซียแล้ว

ท่ามกลาง กระแสต่อต้านการบุกรุกยูเครน ของ รัสเซีย ซึ่งยังคงคุกรุ่นในขณะนี้ บริษัทชื่อดังหลายรายจากหลากภาคธุรกิจ ตั้งแต่แฟชั่น พลังงาน รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ร่วมกันแสดงพลังด้วยการ ปิดสำนักงานและฐานการผลิตในรัสเซีย เพื่อร่วมแสดงจุดยืนในแง่การรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการสนับสนุน ยูเครน ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ถูกรุกราน

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานวันนี้ (7 มี.ค.) ว่า การทำสงครามของรัสเซียในยูเครนส่งผลให้ รัฐบาลรัสเซียถูกคว่ำบาตร และลงโทษด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจมากมายหลายรูปแบบ จนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียพัง ซ้ำยังขัดขวางการให้บริการและดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซียด้วย

 

แมรี เลิฟลี นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันรัฐศาสตร์ปีเตอร์สัน (Peterson Institute) ในกรุงวอชิงตัน อธิบายว่า รัสเซียได้กลายเป็นประเทศที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจที่ทั่วโลก “รังเกียจ” และ “หันหลังให้”

ผู้สนับสนุนชาวยูเครน เรียกร้องมาตรการคว่ำบาตรเพื่อสกัดกั้นการรุกรานของรัสเซียภายใต้คำสั่งปธน.ปูติน

แทบไม่มีบริษัทใด รวมทั้งบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ต้องการจะเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรืออยู่กับฝ่ายเดียวกับประเทศที่โดนมาตรการลงโทษของสหรัฐและชาติตะวันตก” เลิฟลีกล่าว

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรัฐบาลเครมลินที่ห้ามไม่ให้นักลงทุนเทขายทรัพย์สินในรัสเซียได้สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องตบเท้าออกจากรัสเซียไป โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 มี.ค.) นายมิคาอิล มิชูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ออกมากล่าวว่า รัสเซียจะพยายามช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถตัดสินใจได้ถูก แทนการที่บริษัทเหล่านี้จะยอมจำนนต่อมาตรการลงโทษจากนานาชาติ

 

ทั้งนี้ บริษัทพลังงาน ทั้งใหญ่และเล็กจากชาติต่าง ๆ ก็ได้ประกาศยกเลิกการลงทุนในโครงการใหญ่ๆกับรัสเซียแล้ว อาทิ

 

  • บีพี (BP) ได้ถอนหุ้นมูลค่าถึง 14,000 ล้านดอลลาร์จากโครงการพลังงานรอสเนฟต์ (Rosneft) ของรัฐบาลรัสเซียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.)
  • จากนั้นในวันรุ่งขึ้น บริษัทเชลล์ (Shell) ก็ประกาศยกเลิกการร่วมลงทุนกับบริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัฐบาลรัสเซียที่มีบทบาทสำคัญในโครงการท่อส่งน้ำมันนอร์ดสตรีม2  (Nord Stream 2) ที่ลำเลียงพลังงานจากรัสเซียไปยังยุโรป
  • ขณะที่ เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ได้ประกาศยุติการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของรัสเซียด้วยเช่นกัน

เรียกร้องแบนรัสเซียและปูติน คราวนี้ ลองมาสำรวจ ภาคธุรกิจอื่นๆ มีหลายบริษัทได้ออกมาประณามรัสเซียอย่างชัดเจนต่อการส่งกองทัพบุกยูเครน เพราะปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นทั้งการป้องกันธุรกิจของตนเองจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก และยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • ภาคการผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์อย่าง โตโยต้า (Toyota) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) และ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เช่น เอชแอนด์เอ็ม (H&M) และ ไนกี้ (Nike) ตลอดจนบริษัทขายของแต่งบ้านอย่าง อิเกีย (Ikea) ต่างระบุว่า มีความกังวลต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นอย่างยิ่ง
  • ส่วน วอลโว่ (Volvo) ชี้ถึงความเสี่ยงในการทำการซื้อขายชิ้นส่วนการผลิตต่างๆ กับรัสเซีย ขณะที่บริษัทผลิตเครื่องบิน โบอิ้ง (Boeing) และ แอร์บัส (Airbus) ต่างก็ร่วมระงับบริการซ่อมแซมดูแลและบริการสนับสนุนด้านเทคนิคแก่สายการบินรัสเซียแล้ว
  • ขณะเดียวกัน บริษัท แอปเปิล (Apple) เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้หยุดจำหน่ายโทรศัพท์ไอโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในรัสเซีย และยังปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่นแผนที่ในระบบปฏิบัติการของตนเพื่อปกป้องชาวยูเครน และจำกัดไม่ให้ผู้ใช้งานที่อยู่นอกรัสเซียดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของสื่อทางการรัสเซียได้
  • ด้าน บริษัทกูเกิล (Google) ติ๊กต็อก (TikTok) และ เฟซบุ๊ก (Facebook) สั่งห้ามไม่ให้สถานี RT (Russia Today) และสื่อรัสเซียอื่นๆ ทำรายได้โฆษณาบนพื้นที่ของตน เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และวิดีโอบนยูทูบ (Youtube) ส่วน เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้ยกเลิกการถ่ายทำและการลงทุนในโครงการต่างๆในรัสเซียด้วย

 

สำหรับ บางบริษัทที่มีฐานการผลิตและความสัมพันธ์ยาวนานกับประเทศรัสเซีย การปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความแตกต่างกันออกไป เช่น

 

บริษัทผลิตรถยนต์ เรโนลต์ (Renault) ของฝรั่งเศส ออกมาประกาศเพียงว่า จะระงับการผลิตในโรงงานที่กรุงมอสโก ส่วน บริษัทผลิตเบียร์ คาร์ลสเบิรก (Carlsberg) สัญชาติเดนมาร์ก ยังคงยืนยันที่จะเปิดโรงงานในนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์กของรัสเซียต่อไป

 

นายเจมส์ โอร็อคคี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพลักษณ์องค์กรแห่งมหาวิทยาลัย Notre Dame’s Mendoza College of Business ให้ความเห็นว่า “ในช่วงที่สถานการณ์ปกติ การทำธุรกิจในรัสเซียก็ถือว่ามีความยากลำบากอยู่พอตัวแล้ว ส่วนในตอนนี้มันวุ่นวายมาก คิดว่าการถอนธุรกิจออกมาจากรัสเซียในยามนี้ จึงเป็นสิ่งที่ฉลาดและสมควรทำ

 

เขาพูดเสริมด้วยว่า การทำธุรกิจกับรัสเซียในตอนนี้เปรียบเสมือนการทำธุรกิจกับครอบครัวแมนสัน ซึ่งผู้นำของครอบครัวนี้คือ ชาร์ล แมนสัน ผู้คลั่งลัทธิทางศาสนาและฆาตกรสังหารโหดชื่อดัง ดังนั้น บริษัทต่างๆจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัสเซีย และเมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อาจารย์ผู้นี้บอกว่า บริษัทเหล่านี้คงไม่ประสบความเสียหายมากนัก หากคิดจะถอนตัวออกจากรัสเซีย

 

สำหรับกระแสการระงับธุรกิจในรัสเซียของแบรนด์ดังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น สำนักข่าวเอพีชี้ว่า เป็นผลมาจากทั้งมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศและกระแสสังคมที่องค์กรต้องตอบรับ เพราะทั่วโลกกำลังเฝ้าดูด้วยความห่วงใยเกี่ยวกับความหายนะทางด้านมนุษยชนจากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้

"ไม่เอาปูติน" วาเนสซา เบอบาโน อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Columbia Business School ในนครนิวยอร์กได้เตือนถึงการที่แบรนด์ดังร่วมกันหยุดทำธุรกิจในรัสเซียว่าอาจจะเป็น การฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรพยายามหลอกผู้บริโภคด้วยการสร้างภาพลักษณ์หรือการกระทำต่างๆแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ในความเป็นจริงและในภาคปฏิบัตินั้น องค์กรเหล่านี้ไม่เคยคิดจะคำนึงถึงสิ่งข้างต้นเลย

 

 “ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือพนักงานและผู้บริโภคนั้น อยากจะเห็นว่าการกระทำและพฤติกรรมของบริษัทต่างๆตรงกับสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนชาวยูเครนจริง ๆ”

 

อย่างไรก็ดี บางบริษัท เช่น เลโก้ (Lego) ฟอร์ด (Ford) และ โฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ได้ทำมากกว่าการระงับการส่งสินค้าหรือปิดการทำการ โดยมีการช่วยเรี่ยไรเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์เพื่อนำไปบริจาคสำหรับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนแล้ว