สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ เปิดประวัติ บรรดา “อภิมหาเศรษฐี” ที่เรียกขานกันว่า “โอลิกาก” (Oligarch) ในภาษารัสเซีย พวกเขาคือ นักธุรกิจระดับวีไอพี ที่คาดว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนวงในของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย รายชื่อของพวกเขาเริ่มปรากฏเป็นข่าวในระยะหลัง ๆนี้ ในฐานะบุคคลที่ถูกชาติตะวันตกอันประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศคว่ำบาตรหลังจากที่ รัสเซีย ตัดสินใจเปิดศึกรุกราน ยูเครน
สื่อตะวันตกมักใช้คำ “โอลิกาก” นี้ กับบรรดา “ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและร่ำรวยของรัสเซีย” แม้ว่ามันจะมีรากศัพท์ที่มาจากภาษากรีกก็ตาม บุคคลเหล่านี้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการแปรรูปรัฐวิสหากิจ ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
หลายปีก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีปูตินได้เตือนบรรดาบุคคลที่เป็นพันธมิตรของเขาแล้วว่า พวกเขาควรจะหาทางปกป้องตัวเองจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับสหรัฐและอียูเสื่อมทรามลง หลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2557
ขณะที่คนเหล่านี้บางคนก็เชื่อคำเตือน ทำการลงทุนเฉพาะในรัสเซีย แต่อีกหลายคนก็ยังคงไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ รวมทั้งสโมสรฟุตบอลในอังกฤษด้วย นอกจากนี้ บริษัทรัสเซียหลายแห่งซี่งเป็นของนักธุรกิจชั้นแนวหน้าที่มีความใกล้ชิดผู้นำรัสเซีย ก็ยังคงเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
ผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกที่ประกาศใช้กับรัสเซียและถือว่าเข้มข้นที่สุดในยุคนี้ ทำให้กลุ่ม “โอลิกาก” ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียสินทรัพย์ในต่างประเทศไป ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับบรรดาอภิมหาเศรษฐีรัสเซียเหล่านี้ว่ามีใครบ้าง และมาตรการคว่ำบาตรกระทบต่อสินทรัพย์ของเขาเพียงใด รวบรวมไว้โดยสำนักข่าวบีบีซี
อลิเชอร์ อุสมานอฟ (Alisher Usmanov)
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ราว 17,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดนมาตรการคว่ำบาตรจาก สหรัฐ อียู และอังกฤษ
กล่าวกันว่าอลิเชอร์ อุสมานอฟเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลที่ปูตินชื่นชอบ ตามข้อมูลของฟอร์บส์ ระบุว่า อุสมานอฟเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซีย มีสินทรัพย์รวมประมาณ 17,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อดีตนักกีฬาฟันดาบอาชีพผู้นี้เป็น "นักธุรกิจ-เจ้าหน้าที่" (business-official) ซึ่งเข้าช่วยปูตินเมื่อประสบปัญหาในด้านธุรกิจ
อุสมานอฟเกิดที่อุซเบกิสถานเมื่อครั้งที่ยังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ธุรกิจหลักของเขาคือ “ยูเอสเอ็ม โฮลดิ้งส์” เครือข่ายธุรกิจขนาดยักษ์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของ “เมกาโฟน” บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่เป็นอันดับสองในรัสเซีย
อียูประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเขาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ตามมาด้วยสหรัฐ และอังกฤษ อุสมานอฟบอกว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้ไม่ยุติธรรม และข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่มีต่อเขาก็เป็นเท็จทั้งหมด
ยูเอสเอ็ม โฮลดิ้งส์ กำลังหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงจากการคว่ำบาตรครั้งนี้ของอียู เพราะอุสมานอฟถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวต่ำกว่า 50% ขณะที่เรือซูเปอร์ยอทช์ของอุสมานอฟที่มีชื่อว่า "ดิลบาร์" ซึ่งตั้งตามชื่อมารดาของเขา ตอนนี้อยู่ในอู่ซ่อมบำรุงในเมืองฮัมบวร์กของเยอรมนี ก็มีความเสี่ยงด้วยว่าจะถูกยึดด้วย
ส่วนสินทรัพย์ในอังกฤษ อุสมานอฟลงทุนหลัก ๆ ในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น “บีชวูด เฮาส์” คฤหาสน์พร้อมที่ดินมูลค่า 65 ล้านปอนด์ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน ส่วนที่เซอร์เรย์ที่อยู่นอกลอนดอน เขาเป็นเจ้าของ "ซัตตัน เพลส" คฤหาสน์สไตล์ทิวดอร์ ทรัพย์สินทั้งสองรายการนี้ถูกทางการอังกฤษอายัดไว้แล้ว
นอกจากนี้ ธุรกิจของเขา ได้แก่ ยูเอสเอ็ม เมกาโฟน และโยตา ยังเป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันของฟาร์ฮัด โมชิรี ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคู่ค้าของอุสมานอฟด้วย และมีรายงานว่าทั้งคู่มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก จึงทำให้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 มี.ค.) สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันต้องออกมาประกาศยุติสัญญาสปอนเซอร์กับธุรกิจของเขา ในขณะเดียวกันโมชิรีก็ได้ลาออกจากคณะกรรมการของยูเอสเอ็มด้วย
โรมัน อับราโมวิช (Roman Abramovich)
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ราว 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยังไม่ถูกคว่ำบาตร จากฝ่ายใด
อับราโมวิชเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งจากความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของสโมสรฟุตบอลเชลซีของเขา แต่จนถึงขณะนี้เขายังไม่ถูกคว่ำบาตร อาจเป็นเพราะเขาดูไม่มีอิทธิพลมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพันธมิตรคนอื่น ๆ ของประธานาธิบดีปูติน
อับราโมวิชปฏิเสธเสมอว่าไม่ได้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำนายปูติน หรือทางการรัสเซีย อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ของเขามูลค่าราว 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงหากว่าเกิดการคว่ำบาตรขึ้นมาจริง ๆ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา เขาประกาศว่าอาจจะขายสโมสรเชลซีออกไปในราคา 3,000 ล้านปอนด์ และยังมีรายงานด้วยว่าบ้านพักมูลค่า 150 ล้านปอนด์ของอับราโมวิช ในย่านเคนซิงตัน พาเลซ การ์เดนส์ ในกรุงลอนดอนก็ถูกประกาศขายแล้ว
อับราโมวิชสร้างตัวขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 และเป็นหนึ่งในโอลิกากรุ่นแรกในช่วงที่นายบอริส เยลต์ซินเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ความสำเร็จครั้งใหญ่ของเขาก็คือสามารถเข้าซื้อบริษัทน้ำมันซิบเนฟท์ได้ในราคาแสนถูก ส่วนสินทรัพย์อื่น ๆ ของเขา ได้แก่ เรือยอชต์ที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของโลกชื่อว่า "อีคลิปส์" (Eclipse) ซึ่งเมื่อวันศุกร์ (4 มี.ค.) ได้แล่นออกจากหมู่เกาะบริติช เวอร์จินไปแล้ว ส่วนเรือยอชต์ลำใหญ่อีกลำที่ชื่อ "โซลาริส" (Solaris) ยังคงเทียบท่าอยู่ในนครบาร์เซโลนาของสเปน
หลายปีที่ผ่านมา เขาเริ่มถอนตัวจากอังกฤษ โดยในปี 2018 (พ.ศ.2561) เขาตัดสินใจที่จะไม่ต่อวีซ่าอังกฤษ และใช้หนังสือเดินทางของอิสราเอลเล่มใหม่เพื่อเดินทางมายังกรุงลอนดอนแทน และตอนนี้เขาไม่ค่อยปรากฏตัวที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ของสโมสรฟุตบอลเชลซีเหมือนแต่ก่อนที่เขาจะต้องเข้าชมเกมการแข่งขันทุกครั้ง
โอเลก เดริปาสกา (Oleg Deripaska)
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถูกคว่ำบาตรโดย สหรัฐอเมริกา
เมื่อประธานาธิบดีปูตินขึ้นสู่อำนาจ โอเลก เดริปาสกาก็ร่ำรวยมหาศาลมีมูลค่าสินทรัพย์รวมสูงสุดราว 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้คาดกันว่าเขามีสินทรัพย์รวมแค่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
เขาสร้างตัวเองจนร่ำรวยในช่วงทศวรรษ 1990 หลังต้องฟาดฟันอย่างดุเดือดในสงครามธุรกิจของอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สหรัฐกล่าวว่าเขาพัวพันกับการฟอกเงิน การติดสินบน การกรรโชกทรัพย์ และการฉ้อโกง มีรายงานกล่าวหาเขาว่าเป็นผู้สั่งการสังหารนักธุรกิจรายหนึ่ง และยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมของรัสเซียอีกด้วย แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด
ในวิกฤตการเงินปี 2008 (2551) อาณาจักรธุรกิจของเขาถูกกระทบอย่างหนัก เขาต้องการความช่วยเหลือจากประธานาธิบดีปูติน แต่ก็เหมือนจะเกิดขัดแย้งกับปูตินเพราะในปี 2009 (2552) ปูตินทำให้เขาได้อับอายด้วยการพูดในที่สาธารณะว่าเขาขโมยปากกาไป อย่างไรก็ตาม เขาก็น่าจะสามารถกลับมาสานสัมพันธ์กับท่านผู้นำได้อีกครั้ง ในรายงานการสอบสวนของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอของสหรัฐ ที่สืบสวนว่ารัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 (2559) หรือไม่ ระบุว่าเดริปาสกามีความสนิทชิดเชื้อกับผู้นำรัสเซีย
เขาก่อตั้งบริษัทชื่อเอ็นพลัส กรุ๊ป (En+ Group) ซึ่งทำธุรกิจพลังงานสะอาดและโลหกรรม ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ต่อมาได้ลดการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% เมื่อถูกสหรัฐคว่ำบาตรในปี 2018 ในช่วงเวลานั้น เบสิก อีเลเมนท์ (Basic Element) อันเป็นหนึ่งในบริษัทของเขาออกแถลงการณ์ว่า "การคว่ำบาตรไม่มีมูลเหตุ น่าขัน และเลื่อนลอย"
เดริปาสกายังเป็นเจ้าของอาคารสไตล์อาร์ตเดคโคขนาดใหญ่ "แฮมสตัน เฮาส์"ในเมืองเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ เขาพยายามขายมันออกมาในราคา 18 ล้านปอนด์นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและรัสเซียเสื่อมทรามลงจากการปองร้ายสายลับรัสเซียสองพ่อลูกตระกูลสกริปาลด้วยการวางยาพิษเมื่อปี 2018 (2561) นอกจากนี้เขายังมีเรือยอชต์ 1 ลำชื่อ "คลิโอ" (Clio) ที่เมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) อยู่ในมัลดีฟส์
นักธุรกิจรายนี้ต่างกับผู้ทรงอิทธิพลของรัสเซียรายอื่น ๆ ที่โดนคว่ำบาตร เพราะเขาออกมาเรียกร้องสันติภาพในสงครามครั้งนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่า "การเจรจา(สันติภาพ)จะต้องเริ่มขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
อิกอร์ เซชิน (IGOR SECHIN)
ไม่ทราบมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
ถูกคว่ำบาตรโดย สหรัฐอเมริกาและอียู
อียูประกาศคว่ำบาตรอิกอร์ เซชินเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเขามีสายสัมพันธ์ยาวนานและลึกล้ำกับประธานาธิบดีปูติน เชื่อกันว่าเขาเป็นที่ปรึกษาที่ใกล้ชิด ซึ่งผู้นำรัสเซียเชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่ง และก็ยังเป็นเพื่อนสนิทที่น่าจะมีการติดต่อพูดคุยกันอยู่ทุกวัน
ในรัสเซีย มีการให้สมญาเขาว่า “ดาร์ธ เวเดอร์” ซึ่งเป็นชื่อตัวละครในภาพยนตร์สตาร์วอร์ เชื่อว่าสมญานามนี้อาจมาจากความโหดร้ายของเขาในการจัดการกับคู่แข่ง เอกสารสื่อสารภายในของสถานทูตสหรัฐที่รั่วไหลออกมาในปี 2008 (2551) ระบุว่า เซชินเป็นบุคคลลึกลับเสียจนมีเรื่องตลกเล่ากันว่าเขาอาจจะไม่มีตัวตนจริง ๆ แต่เป็นเรื่องที่ทางการรัสเซียแต่งขึ้นเพื่อสร้างความกลัวขึ้นในจิตใจ
ทางการสหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรต่อเซชินเมื่อปี 2014 (2557) ซึ่งทำให้เซชินออกมาบอกว่า"การคว่ำบาตรนี้ไร้เหตุผลอย่างยิ่งและผิดกฎหมาย" ต่อมาในวันที่ 24 ก.พ.2565 สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรเซชินเพิ่มเติม
ดาร์ธ เวเดอร์แห่งรัสเซียผู้นี้เปลี่ยนหน้าที่การงานไปมาระหว่างตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองและทางธุรกิจ บางทีเขาก็ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งในด้านการเมืองและธุรกิจในคราวเดียวกัน เมื่อปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งปัจจุบันของเขาก็คือ ผู้บริหารของบริษัทรอสเนฟท์ รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย
เซชินทำงานร่วมกันปูตินมาในสำนักงานนายกเทศมนตรีของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในช่วงทศวรรษ 1990 และเชื่อกันว่าเขาเคยทำงานในเคจีบี หรือสำนักงานข่าวกรองของรัสเซียด้วย แต่เซชินก็ไม่เคยออกมายอมรับเรื่องนี้
เนื่องจากธุรกิจของเขาทั้งหมดอยู่ในรัสเซียจึงไม่มีใครรู้เลยว่าเซชินมีสินทรัพย์ทั้งหมดเท่าไร มีอะไรบ้าง ทางการฝรั่งเศสเคยยึดเรือยอชต์ชื่อ "อมอเร เวโร" ที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเขา เพราะโอลกา เซชินา ภรรยาคนที่สองของเขามักลงรูปของเธอขณะอยู่บนเรือลำนี้เสมอ หลังจากเรือโดนยึด ทั้งสองคนก็หย่ากันไป นอกจากนั้นแล้ว ร่องรอยของสินทรัพย์ของเขาในต่างประเทศก็ปรากฎน้อยมาก จนยากที่จะสืบค้นและยึดทรัพย์สินเหล่านั้น
อเล็กเซ มิลเลอร์ (Alexey Miller)
ไม่ทราบมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ถูกคว่ำบาตรโดย สหรัฐอเมริกา
อเล็กเซ มิลเลอร์เป็นเพื่อนเก่าอีกคนหนึ่งของประธานาธิบดีปูติน เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งสร้างฐานะขึ้นมาจากความภักดีที่มีต่อท่านผู้นำ มิลเลอร์เคยเป็นผู้ช่วยของปูตินในคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสำนักงานนายกเทศมนตรีนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กช่วงทศวรรษที่ 1990
เขาเป็นผู้บริหารของบริษัทก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันที่ทรงอิทธิพลมากมาตั้งแต่ปี 2001 (2544) ซึ่งการแต่งตั้งเมื่อคราวนั้นทำให้ทุกคนประหลาดใจ และพูดกันว่าเขาไม่น่าจะมีความสามารถในการบริหารอะไรนอกจากทำไปตามคำสั่งของนายเก่าเท่านั้น จะเห็นได้จากการที่ทูตสหรัฐประจำกรุงมอสโกรายงานว่าก๊าซพรอม "ไม่มีประสิทธิภาพ เดินไปตามทิศทางการเมือง และเต็มไปด้วยการฉ้อฉล"
มิลเลอร์ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรในช่วงที่รัสเซียผนวกไครเมียในปี 2014 (2557) แต่ในปี 2018 สหรัฐได้เพิ่มชื่อเขาในบัญชีคว่ำบาตร มิลเลอร์โต้ตอบด้วยการบอกว่า เขาภูมิใจ "ตอนที่ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรครั้งแรก ผมก็สงสัยว่าอาจจะมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า แต่ในที่สุดชื่อผมก็ถูกรวมเข้าไปแล้ว ก็แปลว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว"
การตามสืบว่าเขามีสินทรัพย์นอกรัสเซียบ้างหรือไม่เป็นเรื่องยากมาก และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขความมั่งคั่งของเขาเลย
ปีเตอร์ เอเวน( Pyotr Aven /Petr Aven) และมิคาอิล ฟริดแมน (Mikhail Fridman)
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ของเอเวนอยู่ที่ราว 4,800 ล้านดอลลารสหรัฐ
ส่วนฟริดแมน มีสินทรัพย์รวมราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งสองคนถูกคว่ำบาตรโดย อียู
อียูระบุว่า ปีเตอร์ เอเวน เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่มีสนิทสนมกับปูติน ส่วนมิคาอิล ฟริดแมนนั้นเป็นคนสนิทของคนวงในของท่านผู้นำ ทั้งสองคนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “อัลฟา- แบงก์” อันเป็นธนาคารเอกชนรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย
ในรายงานการสอบสวนของนายมุลเลอร์ เอเวนพบกับปูตินที่เครมลินราวสี่ครั้งต่อปี รายงานระบุด้วยว่าในการพบกันนี้ความคิดเห็นหรือข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ปูตินกล่าวกับเอเวนคือคำสั่ง และหากเขาไม่ทำตามก็อาจจะส่งผลร้ายตามมา
ในปี 2016 (2559) ปูตินเคยเตือนทั้งสองคนให้ปกป้องผลประโยชน์และทรัพย์สินของพวกเขาให้พ้นจากการคว่ำบาตรอาจเกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา หุ้นของพวกเขาใน “เลตเตอร์วัน” กลุ่มบริษัทลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน ถูกอายัดโดยคำสั่งคว่ำบาตรของอียู ทำให้ทั้งสองคนต้องออกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว และเอเวนก็ลาออกจากการเป็นกรรมการในราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะในกรุงลอนดอนด้วย
ทั้งสองคนออกมาบอกว่าจะประท้วงการใช้มาตรการคว่ำบาตรของอียูที่ไร้พื้นฐานความเป็นจริง โดยจะใช้ทุกวิถีทางเท่าที่จะเป็นไปได้
ฟริดแมน ซึ่งคาดกันว่ามีมูลค่าทรัพย์สินราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น อาศัยอยู่ในบ้านที่กรุงลอนดอน รวมทั้งมีอสังหาริมทรัพย์ใหญ่โตอีกแห่งทางตอนเหนือของกรุงลอนดอนที่ซื้อมาด้วยราคา 65 ล้านปอนด์ด้วย
ในการแถลงข่าวที่ลอนดอนเมื่อวันอังคาร (1 มี.ค.) เขากล่าวว่าสงครามในยูเครนเป็น "โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่" แต่ก็ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ทางการเครมลินอย่างเปิดเผยเพราะถ้าทำเช่นนั้นอาจทำให้พนักงานหลายแสนต้องตกงานก็เป็นได้
ที่มา สำนักข่าวบีบีซี