ขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกไม่ยอมรับการเปลี่ยน สัญญาการจ่ายเงินชำระค่าก๊าซธรรมชาติ จากรัสเซีย จากเดิมที่มักจ่ายเป็นเงินยูโร มาเป็น เงินรูเบิล ตามข้อเรียกร้องของ รัสเซีย นั้น ทางด้านรัฐบาลเครมลินก็ได้ยื่นคำขาดว่า ภายในวันพฤหัสบดีนี้ (31 มี.ค.) รัสเซียจะเตรียมการขาย ก๊าซธรรมชาติ ให้กับผู้ซื้อต่างชาติที่พร้อมจะชำระเป็นสกุลเงินรูเบิล
การเรียกร้องให้ผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเปลี่ยนมาชำระเงินเป็นรูเบิลนั้น เป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้หลายประเทศที่ปูตินเรียกว่า “ประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย" หลังจากโลกตะวันตกได้ลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่รัสเซียตัดสินใจใช้กำลังทางการทหารบุกยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำนักข่าว TASS ของรัสเซียรายงานว่า ถ้ายุโรปปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล รัสเซียก็จะสามารถขายสินค้านี้ให้กับประเทศในเอเชียได้
อ่านเพิ่มเติม: รัสเซียเชือดยุโรปนิ่มๆ ไม่จ่ายเป็นรูเบิล ก็แค่งดส่งก๊าซ
ข่าวระบุว่า กำหนดเส้นตายสำหรับการจ่ายเงินชำระค่าก๊าซธรรมชาติที่ฝ่ายรัสเซียระบุนั้น ตรงกับวันที่ 31 มีนาคมนี้ นับเป็นสถานการณ์ที่สร้างแรงกดดันต่อยุโรปเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของปริมาณการนำเข้า(ก๊าซธรรมชาติ)ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ประเทศในยุโรปซึ่งมักจ่ายค่าพลังงานจากรัสเซียเป็นสกุลเงินยูโรยังคงยืนกรานว่า รัสเซียไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการซื้อขายตามอำเภอใจ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เยอรมนีจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่งจากเรื่องนี้ เนื่องจากต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียปริมาณมากในการผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยเยอรมนีอาจประสบปัญหาในการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม หากมีปัญหากับรัสเซีย
นายลีออนฮาร์ท เบิร์นบอม ซีอีโอของบริษัท E.ON ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะเผชิญกับ "ความเสียหายครั้งใหญ่" ถ้าไม่มีการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และถ้าเกิดการขาดเเคลนพลังงานขึ้นมาจริง ๆ เยอรมนีก็อาจจะต้องจัดสรรพลังงานให้กับภาคครัวเรือนก่อนภาคการผลิต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เศรษฐกิจของเยอรมนีก็จะได้รับผลกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก
นายมาร์คัส เครบเบอร์ ซีอีโอของ RWE ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี กล่าวเสริมว่า หากไม่มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เยอรมนีจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น